สสส. ชวนคนไทยวางแก้วเหล้า สร้างชีวิตที่ดี “น้ำเมา” ทำครอบครัวแตกแยก เจ็บ-ตาย 5 ปี 2.8 แสนคน

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    สสส. จับมือเครือข่าย ชวนคนไทยวางแก้วเหล้า ตั้งสติ คิดดี สร้างชีวิตที่ดี “ศวส.” เผยแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง 8 ชนิด และยอดเจ็บตายทางถนน 5 ปี 2.8 แสนคน ทำต้นทุนทางสังคมพุ่งเฉลี่ยคนละเกือบครึ่งล้านบาท ด้านเหยื่อเล่าหมดเปลือกผลกระทบน้ำเมา ทำครอบครัวแตกแยก สุดท้ายตายจาก

                    เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ก.ค. 2568 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ ภาคีเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลนิธิเด็กเยาวชน และครอบครัว สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ 2568 พร้อมเสวนาถอดประสบการณ์ “เหยื่อ…สงครามน้ำเมา”

                    น.ส.รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ปีนี้ตรงกับวันเข้าพรรษาวันที่ 11 ก.ค. 2568 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมติเห็นชอบ รูปแบบกิจกรรมรณรงค์ปีนี้โดย มุ่งเน้นการลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นศูนย์ “Zero drink Zero death” เป็นการให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนคนไทย  และเชิญชวนประชาชนลงนามงดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นทางของปัญหาสำคัญหลายมิติ การเปิดเวทีวันนี้จึงได้เชิญผู้ได้รับผลกระทบ 4 คนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ เหยื่ออุบัติเหตุเมาแล้วขับ คุณพ่อที่สูญเสียลูกชายเพราะพิษสุรา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว และเยาวชนที่ฤทธิ์สุรานำไปสู่อาชญากรรม เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจนักดื่มให้หันมาลด ละ เลิก เพราะไม่อยากให้ใครต้องเผชิญชะตากรรมอันเป็นผลจากการดื่มเช่นเดียวกับทั้ง 4 ท่าน

                    น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม การรณรงค์และให้ความรู้ กระตุ้นเตือนอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้ความสำคัญในการดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม การสกัดนักดื่มหน้าใหม่ และกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มการดื่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มเพศหญิง ในเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้ สสส. ได้ผลิตภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา คุณทำได้ ภายใต้แนวคิด ชวนตัวเองงดเหล้า” เพราะ สสส. มองว่าจุดเริ่มต้นเรื่องนี้ต้องมาจากตัวเอง โดยมีภาพยนตร์โฆษณา 3 เรื่อง 1. เงา = เงาของตัวพระเอกเอง จะชวนตัวเองของเราเลิกเหล้ายังไง 2. แนนซี่ = เมื่อแนนซี่บอกตัวเองว่าไม่ดื่ม แนนซี่จะพบกับชีวิตที่ดี 3. อ๊อด = ถ้า 1 อ๊อดมาเตือนยังไม่พอ อาจต้องยกทั้งมัลติเวิร์สของอ๊อดมาช่วยเตือน เรื่องราวเล็ก ๆ แต่หนักแน่นข้อเท็จจริงในชีวิต

                    “การตัดสินใจ ดื่ม หรือเลิกดื่ม ไม่ได้อยู่ที่บริบทสังคม แต่เป็นการเลือกที่จะฟังเสียงจากใจของเราเอง เลือกที่จะมีสติ เลือกสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับตนเองและคนที่รักต่างหาก ผ่านการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพียงแค่บอกกับตัวเอง และชวนตัวเองวางหรือคว่ำแก้วเหล้าที่อยู่ในมือ เพื่อนำทางเราไปสู่เส้นทางที่ดีกว่า จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนใช้เวลาในช่วงเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางชีวิตใหม่นี้ เริ่มวันนี้ ดีตั้งแต่วันนี้ ชวนตัวเองเลิกดื่มแอลกอฮอล์ คุณทำได้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพและร่างกาย เพื่อตนเองและครอบครัว ซึ่ง สสส. ยืนยันว่าจะร่วมกันกับภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อ ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้เพื่อให้ผู้ดื่มสุรา ได้ตระหนักถึงพิษภัยของการดื่มทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไป” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

                    รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ปี 2562–2566 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์เฉลี่ยปีละเกือบ 57,000 ราย รวม 5 ปี มากกว่า 284,000 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 370,000 ล้านบาท ที่น่าตกใจคือ คนไทยเกือบ 80% เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มของผู้อื่น ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และปัญหาครอบครัว โดยต้นทุนทางสังคมเฉลี่ยจากนักดื่มไทยหนึ่งคนสูงถึง 498,196 บาท โดยเฉพาะนักดื่มชายมีต้นทุนสูงถึง 721,344 บาทต่อคน แอลกอฮอล์ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 ที่เชื่อมโยงกับมะเร็งอย่างน้อย 8 ชนิด อาทิ มะเร็งช่องปาก กล่องเสียง ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก เต้านม ตับ และตับอ่อน ตัวเลขทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการลด ละ เลิกการดื่ม เพื่อปกป้องสุขภาพ เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน

                    ด้าน ลุงไสว คนขับรถสามล้อย่านหัวลำโพง กรุงเทพฯ กล่าวว่า ตนขับรถสามล้อรับจ้าง ต้องสูญเสียลูกชายจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถ้าย้อนกลับไป ตอนนั้นลูกชายประมาณ 15 ปี ออกมาขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ก็มีการดื่มเหล้าสังสรรค์กับเพื่อนบ้าง แต่หลัง ๆ เริ่มดื่มหนักขึ้น ดื่มทุกวัน ถึงขนาดพกติดตัวเอาไว้ เป็นอย่างนี้อยู่หลายปี ตนตักเตือนว่าแอลกอฮอล์ไม่ดีต่อสุขภาพ ยิ่งเป็นโรคลมชักอยู่ด้วย ถ้าไม่ฟังพ่อ เดี๋ยวหมอก็จะตักเตือนเอง อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการดื่มของลูกชายตนนั้นเป็นเช่นนี้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีแฟนตอนอายุประมาณ 25 ปี แล้วแยกไปอยู่กับแฟนก็ยังดื่มเช่นเดิม สุดท้ายร่างกายไม่ไหว และเสียชีวิตตอนอายุ 30 ปี ด้วยอาหารตับวาย ปอดติดเชื้อ จากเหตุการณ์นี้ตนก็อยากจะเตือนว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสิ่งไม่ดี ทำให้เจ็บป่วย ฟังสิ่งที่พ่อ แม่ ตักเตือน หากเลิกได้ก็ขอให้เลิก

                    นางสาวตวิษา ปานแม้น ผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ตอนที่ตนอายุ 18 ปี ได้พบกับอดีตแฟนซึ่งเป็นพ่อของลูกตอนนี้ ต่างคนต่างก็มีการมีงานทำ มีการดื่มแอลกอฮอล์ด้วยกันบ้าง จนกระทั่ง 2-3 ปีให้หลัง ก็ออกแววไม่เอาอะไรเลย ขี้เกียจ เริ่มดื่มหนักขึ้น ดื่มเป็นประจำ ดื่มจนจำหน้าลูกหน้าแม่ไม่ได้ และลงมือทำร้ายร่างกาย แฟนลาออกจากงานและไม่ได้กลับไปทำงานอีก มีเพียงตนทำงานนอกบ้านคนเดียว ทำให้เกิดปัญหาหึงหวงอย่างหนัก คุยกับใครก็ไม่ได้ แค่จับโทรศัพท์มือถือเล่นเฟซบุ๊กก็หึง เป็นอย่างนี้มาเรื่อย จนมีลูกด้วยกัน และคลอดลูกได้ประมาณ 5 เดือน เขาก็เมาและทำร้ายร่างกายตน และลูกด้วย จึงเป็นจุดที่ทำให้ตนตัดสินใจหอบลูกหนีออกมา แต่เขาก็ตามตลอด จนเอาลูกไปจากเราได้ และคาราคาซังกันมา 3 ปี ถึงตัดกันได้ขาด ตอนนี้เขาเสียชีวิตแล้ว อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของตนก็อยากจะเตือนคนที่กำลังเผชิญปัญหาสุราและความรุนแรงในครอบครัว ขอให้ใช้สติและกลับมารักตัวเองให้มาก และพาตัวเองออกมาจากตรงนั้นให้เร็วที่สุด จะได้เจอกับแสงสว่างและความสุขที่แท้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code