ร่วมขับเคลื่อนความปลอดภัยถนน-ทางม้าลาย ขับขี่ปลอดภัยทุกการเดินทาง ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 7
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา-สสส. ยื่น 3 ข้อเสนอนโยบายขับเคลื่อนความปลอดภัยถนน-ทางม้าลาย ต่อ ก.คมนาคม หลังพบปี 64 ผู้เสียชีวิตเป็นคนเดินเท้า-คนข้ามถนนมากถึง 8% ชี้“ความเร็ว” เป็นสาเหตุเสียชีวิตถึง 70% ขอความร่วมมือผู้ขับขี่ให้ชะลอ-หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ลดอุบัติเหตุ-ลดสูญเสีย
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 ณ กรมขนส่งทางบก คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 7 “คมนาคมขนส่งไทยขับขี่ปลอดภัยทุกการเดินทาง” พร้อมยื่นข้อเสนอต่อปลัดกระทรวงคมนาคม เรื่องการป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนด้านคน รถ ถนนและบริเวณทางม้าลาย
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมของไทย พบว่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน แม้จะค่อย ๆ ลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีตัวเลขที่สูง จะเห็นได้จากปี 2564 มีจำนวนถึง 16,957 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 25.8 ต่อประชากรหรือ 47 รายต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มคนเดินเท้า คนข้ามถนนมากถึง 6-8%
“เป็นที่ทราบกันดีถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจากรถ คน และถนน โดยปัจจัยเสี่ยงสำหรับคนเดินเท้า หรือคนข้ามถนน อาทิ รถใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มีการขับแทรกช่องทางจราจร ไม่ชะลอ หรือหยุดให้คนข้ามถนน ช่องจราจรหลายช่องทำให้มีจุดบดบังสายตา ไม่มีสัญญาณให้คนขับรถทราบก่อนถึงทางข้าม จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีความพร้อมในการกำกับดูแล มีกำลังคน รวมถึงทุกหน่วยงานในสังกัดที่จะร่วมดูแลความปลอดภัยทางถนนให้บรรลุสำเร็จ” นายสุรชัย กล่าว
นายสุรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีการยื่นข้อเสนอแนะในประเด็นความปลอดภัย 3 ด้าน คือ 1. ด้านผู้ใช้รถใช้ถนน โดยกรมขนส่งทางบก เช่น กำหนดเนื้อหาของการอบรม/สอบใบอนุญาตขับขี่/สื่อสารที่สร้างความปลอดภัยกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 2. ด้านสภาพแวดล้อม โครงสร้างและถนน โดยกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เช่น ถนนเขตเมือง-เขตชุมชน ต้องมีมาตรการลดความเร็ว กำหนด Speed Zone จัดทำมาตรการด้านการชะลอความเร็ว (traffic calming 3. ด้านการบริหารจัดการ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม และสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เช่น เร่งรัดติดตามการพัฒนาระบบข้อมูลด้านอุบัติเหตุทางถนนให้นำมาใช้งานเพื่อการวางแผน กำกับติดตามและประเมินผล
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวเสริมว่า อุบัติเหตุที่เกิดบริเวณทางม้าลาย ส่วนใหญ่เกิดในเขตชุมชน หน้าโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด หรือหน้าสถานที่ราชการ “ความเร็ว” เป็นสาเหตุสำคัญมากถึง 70% ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต และในเขต กทม. ถือเป็นพื้นที่ที่มีอุบัติเหตุทางม้าลายสูงสุดของประเทศ ฉะนั้นการใช้ความเร็วที่ 30-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเขตเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่านนั้น เป็นความเร็วที่ทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำไว้ว่า ช่วยลดการเสียชีวิตได้ถึง 90% จึงขอความร่วมมือผู้ขับขี่ให้ชะลอก่อนถึงทางม้าลายและหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และสำหรับคนข้ามทางม้าลายขอให้ระมัดระวังมองขวามองซ้าย เพื่อลดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตของผู้ร่วมทาง
“การจัดกิจกรรมในวันนี้ เป็นการจัดงานครั้งที่ 7 เพื่อระลึกถึงหมอกระต่าย สสส. ยังคงขับเคลื่อนทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย และรณรงค์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน เพื่อผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในการข้ามทางม้าลาย ทั้งในกลุ่มคนเดินข้ามทางม้าลายและผู้ขับขี่ โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียน ที่ล่าสุดเกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน จ.สระแก้ว พบนักเรียนบาดเจ็บถึง 39 คน การยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก เป็นเจ้าภาพร่วมในการดูแลการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการเน้นย้ำการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน และความปลอดภัยบนทางข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียน รวมไปถึงรถต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของกรมการขนส่งทางบก เพื่อร่วมกันดูแลให้เกิดความปลอดภัยทางถนน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว