รวมพลังคืนวิถีชุมชนริมคลองบางมด

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  


รวมพลังคืนวิถีชุมชนริมคลองบางมด thaihealth


แฟ้มภาพ


มีการกล่าวกันว่า คลองบางมด เขตทุ่งครุ จัดว่าเป็นคลองสวยอันดับ 3 ของกรุงเทพฯ เพราะมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีลำคลองหล่อเลี้ยงชาวชุมชนนี้ให้มีชีวิตที่ดี และสามารถปลูกส้มบางมดจนสร้างชื่อเสียงไปทั่วประเทศ แต่เมื่อกาลเวลาและสภาพของสังคมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ชุมชนดังกล่าวแปรสภาพจากวิถีชีวิตริมคลองไปสู่สังคมคอนกรีตเข้ามาแทนที่


ด้วยเหตุนี้ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคณะทำงานเครือข่าย 3C Project (Canal Cycling Community) ได้ร่วมกันพัฒนาและพลิกฟื้นคืนธรรมชาติวิถีชีวิตริมน้ำคลองบางมดให้กลับมาอีกครั้ง โดยเริ่มพัฒนาพื้นที่จากริมท่าน้ำวัดพุทธบูชาถึงครัววิชชาลัย จนประสบความสำเร็จ และมีการสร้างเส้นทางปั่นจักรยานระยะทาง 3 กิโลเมตร ให้ชาวชุมชนได้ออกกำลังกายอีกด้วย


รวมพลังคืนวิถีชุมชนริมคลองบางมด thaihealth


เมื่อประสบความสำเร็จในพื้นที่แรก คณะทำงานฯ จึงดำเนินการพัฒนาพื้นที่ริมคลองบางมด เพิ่มเส้นทางจักรยานเป็น 10 กิโลเมตร เพื่อขยายเส้นทางคมนาคมและเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืนเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งมีชุมชนในเขตทุ่งครุเข้าร่วมถึง 29 ชุมชน รวมทั้งเครือข่ายอีกจำนวนมาก ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร และเปิดตัวกิจกรรมภายใต้ชื่องาน "บางมดเฟสติวัล ครั้งที่ 1" (1st Bangmod Festival) เมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริเวณริมคลองบางมด วัดพุทธบูชา โดยมุ่งมั่นสานต่อโครงการและสื่อสารวิถีชีวิตของคนปลายน้ำ วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของชานเมือง เพื่อให้เกิดเป็นส่วนขยาย และสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่มากขึ้น


นายพลเฉลิม ศรมณี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตทุ่งครุ กทม. เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวว่า กทม.ให้การสนับสนุนการสร้างวิถีชุมชนและเพิ่มเส้นทางจักรยานคืนธรรมชาติให้ชาวบางมด เพราะเห็นความเป็นไปได้และประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ เริ่มจากระยะทาง 3 กิโลเมตรที่ทำไปแล้วด้วยงบประมาณหลายล้านบาท และขั้นต่อไปยินดีร่วมสนับสนุนการขยายเส้นทางเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายที่กำหนด


รวมพลังคืนวิถีชุมชนริมคลองบางมด thaihealth


ดร.กัญจนีย์  พุทธิเมธี หัวหน้าหลักสูตรสถาปัตย กรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบและวางแผน มหาวิทยาลัยเทคโน โลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โต้โผของคณะทำงานฯ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นตัวอย่างความร่วมมือทางเศรษฐกิจชุมชนที่ผลักดันเส้นทางจักรยานริมคลองให้ขยายเพิ่มเป็น 10 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นศักยภาพของพื้นที่คลองบางมดที่ทุกคนต้องภาคภูมิใจ หันมาให้ความสำคัญมากขึ้น


"โครงการได้รับการสนับสนุน ร่วมแรงมือร่วมใจจากหลายหน่วยงาน ทั้งทีมอาสา วัด โรงเรียน และประชาชนในพื้นที่ เมื่อประชาชนเห็นว่ามีศักยภาพ ก็จะหันมาสนใจดูแล เอาใจใส่สิ่งแวดล้อมของชุมชน ช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูให้ดียิ่งขึ้นต่อไป"


โต้โผของคณะทำงานฯ กล่าวต่อว่า หลังจากวิถีชีวิตริมคลองกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทำให้เกิดประโยชน์มากมาย มิได้เพียงแค่เพิ่มหนทางเพื่อสัญจร แต่ยังหมายถึง วัฒนธรรม ประเพณี สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้ชุมชน นำความสุขกลับคืนมาอีกครั้ง และคงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป


"การทำงานของเราได้เชิญกลุ่มเครือข่ายที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันเข้ามาดูงานนี้ด้วย เพื่อปรึกษาหารือและช่วยเหลือผลักดันโครงการนี้ให้ประสบผลสำเร็จ และจะเดินหน้าสำหรับการจัดงานในโอกาสต่อไป" ดร.กัญจนีย์กล่าวสรุปความสำเร็จเอาไว้


รวมพลังคืนวิถีชุมชนริมคลองบางมด thaihealth


นายประสิทธิ์ รัศมีสุข สมาชิกชุมชนบางมด เขตทุ่งครุ กล่าวว่า เกิดที่บางมด ตลอดอายุ 70 ปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปมาก จากอดีตเมื่อพูดถึงบางมด คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงส้มบางมดเป็นอันดับต้นๆ แต่บางมดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากที่คนทั่วไปยังไม่ทราบ เช่น ธรรมชาติชีวิตริมคลอง ที่แม้ปัจจุบันสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนจากสวนเกษตรกลายเป็นชุมชน


แต่เมื่อมีหน่วยงานต่างๆ หันมาสนใจและพัฒนาเส้นทางเลียบคลอง จึงคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะชุมชนของเรายังมีศักยภาพด้านอื่นๆ ที่จะพัฒนาให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้นได้อีกมาก รวมทั้งยังทำให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ออกกำลังกาย ที่จะทำให้พวกเขามีสุขภาวะดีและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป


สำหรับ "บางมดเฟสติวัล ครั้งที่ 1" เริ่มต้นด้วยการร้องเพลง ประสานเสียงจากวงสานใจคอรัส พร้อมการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากคุณสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล (ฮาร์ท), การแสดงโปงลางจากโรงเรียนวัดพุทธบูชา, การแสดงคีตะนาฏศิลป์จาก PP&P Music and Art, การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยจากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, การขับร้องนาซีร จากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย, การปั้นตุ๊กตาดินไทย, ป้อนนมแพะ, เพนต์เฮนน่า, ถักตุ๊กตาไหมพรม, จัดดอกไม้, ประดิษฐ์โคมไฟจากลูกโป่ง และตลอดแนวเลียบคลอง 3กิโลเมตร มีการจัดแสดงผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ เช่น Canal Art, กิจกรรมศิลปะบำบัดบนกำแพง (Bangmod Art Theraphy Wall Painting), การจัดแสดงไฟประดับ (Decorative Light) การปั่นจักรยานริมคลองและล่องเรือชมธรรมชาติและวิถีชุมชนในคลองบางมด


รวมพลังคืนวิถีชุมชนริมคลองบางมด thaihealth


ความสำเร็จของชาวบางมดเกิดจากการร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์ของคนในชุมชนให้ดำรงต่อไป ท่ามกลางกระแสของสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นับเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม และเป็นต้นแบบสำคัญให้ชุมชนที่ต้องการรักษาวิถีดั้งเดิมของตัวเองได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้

Shares:
QR Code :
QR Code