รวมพลคนไทยเบิ้ง
วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นชนชาติที่มีการแต่งกาย การละเล่น อาหาร และภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรให้ความสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งสวยงาม แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสุขภาวะทางด้านจิตใจ สสส.และภาคีที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำโครงการ “สื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน” ขึ้น และมีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกถึง 28 โครงการด้วยกัน และ 1 ในโครงการที่ได้รับการคัดเลือก ก็คือ โครงการ “รวมพลคนไทยเบิ้ง” นั่นเอง
โดยในวันที่ 29 มิถุนายน 2552 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ กลุ่มดินสอสี จัดทำโครงการ “สื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน” ในโครงการ “รวมพลคนไทยเบิ้ง” เพื่อส่งเสริมคุณค่าสื่อพื้นบ้าน พัฒนาศักยภาพ สืบสานภูมิปัญญา สร้างสุขภาวะเยาวชนและชุมชน ผ่านสื่อพื้นบ้านสร้างสุข ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง จ.ลพบุรี
เปิดเส้นทางสื่อพื้นบ้านสานสุข
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดงานแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. เล่าให้ฟังว่า สสส.อยากเห็นเยาวชนมีสุขภาวะที่ดีผ่านในเรื่องขององค์ความรู้ ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด โดยมีเยาวชนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการดำเนินงาน แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า สื่อพื้นบ้านค่อยๆ สูญหายไป อันเนื่องมาจากค่านิยมตะวันตก เกาหลี ญี่ปุ่น ที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย ดังนั้น นี่จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญของแผนงานอุปถัมภ์เชิงรุกฯ ที่จะพลิกฟื้นสื่อพื้นบ้านให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
“ชุมชนไทยเบิ้งเป็น 1 ในโครงการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน อันเนื่องมาจากความโดดเด่นของพื้นที่ที่มีความเป็นอัตลักษณ์ในเชิงชาติพันธุ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม การละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ยังดำรงอยู่ คู่กับปราชญ์ชาวบ้านหรือครูภูมิปัญญา แต่ในปัจจุบันเยาวชนรุ่นใหม่ในชุมชนได้ถูกหล่อหลอมจากกระแสค่านิยมต่างชาติ วัฒนธรรมที่ดีงามที่มีมาแต่ดั้งเดิม ส่วนใหญ่จึงมีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังอนุรักษ์ไว้ ดังนั้น โครงการรวมพลคนไทยเบิ้งจึงเกิดขึ้น เพื่อส่งต่อภูมิปัญญาจากปู่ย่าตายายสู่ลูกหลานชาวไทยเบิ้งได้ช่วยกันสืบสานต่อ” ผจก.แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกฯ เล่า
นายดนัย ยังบอกอีกว่า การนำเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสานสื่อพื้นบ้านร่วมกับครูภูมิปัญญา จะทำให้เยาวชนเกิดการซึมซับความเป็นรากเหง้าของบรรพบุรุษ จนเกิดความรัก ความเข้าใจในวิถีชีวิตของชุมชน ไม่ไปแสวงหาสิ่งที่เป็นอบายมุข อาทิ เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เพราะเขามีความสุขอยู่กับการมีส่วนร่วมของชุมชน และจะนำไปสู่การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามสืบต่อกันไป
ด้าน ผศ.(พิเศษ) ดร.เนตร หงส์ไกรเลิศ อาจารย์จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่อาศัยอยู่ของชาวไทยเบิ้ง มีขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายไทยภาคกลาง แต่มีลักษณะบางอย่างที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม อาทิ ภาษา การแต่งกาย อาหารการกิน การสร้างที่อยู่อาศัย นามสกุล ความเชื่อ การละเล่น เพลงพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งการทอผ้าขาวม้า และการทอถุงย่ามใช้เอง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถูกสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยสภาพในปัจจุบันไม่เอื้อให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ เนื่องจากวิถีชนบทได้เปลี่ยนแปลงไป กลุ่มแกนนำของชุมชนไทยเบิ้งจึงได้ริเริ่มทำกิจกรรมเกี่ยวกับการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชนรู้จักรากเหง้าของตนเองและเห็นคุณค่าของวิถีชุมชน แต่ปัญหาที่พบคือ เมื่อเยาวชนได้เรียนรู้ภูมิปัญญาในด้านต่างๆ แล้ว ยังขาดโอกาสที่จะนำเสนอ เผยแพร่ให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกัน
“งานรวมพลคนไทยเบิ้ง จึงถือเป็นเวทีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถทางภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูภูมิปัญญาของท้องถิ่น โดยใช้การแสดงละครเป็นตัวขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมไทยเบิ้งออกมา หากมองโดยประเพณีวัฒนธรรมแล้ว ไม่ได้มีอะไรหรูหรามาก แต่วิธีการคิด วิธีการขับเคลื่อนที่ใช้ละครมาเป็นสื่อ บวกกับความตั้งใจของคนทำและเด็กๆ ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อพลิกฟื้นวัฒนธรรมดั้งเดิมให้กลับมามีชีวิต สิ่งนี้ต่างหาก คือ ความโดดเด่นของชาวไทยเบิ้ง” ผศ.(พิเศษ) ดร.เนตร เล่า
พลิกฟื้นสื่อพื้นบ้าน สานใจคนรุ่นใหม่ สานสุขทุกชุมชน
นายประทีป อ่อนสลุง หรือ พี่มืด รองนายก อบต.บ้านโคกสลุง ผู้รับผิดชอบโครงการสื่อพื้นบ้านสานสุข เล่าให้ฟังว่า กระแสวัฒนธรรมต่างชาติ หลั่งไหลเข้ามายังชุมชนไทยเบิ้ง ดังจะเห็นได้จาก เสื้อผ้า หน้าผม ของเยาวชนรุ่นใหม่ที่แต่งเลียนแบบชาวต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมเริ่มที่จะสูญหาย เหลือเพียงพ่อใหญ่แม่ใหญ่เท่านั้น ที่ยังรักษาความเป็นไทยเบิ้งไว้ หากวันข้างหน้าสิ้นพ่อใหญ่แม่ใหญ่แล้ว วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชุมชนไทยเบิ้งคงสูญสิ้นไปด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น เราจึงต้องช่วยกันพลิกฟื้นสื่อพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวไทยเบิ้งให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
“ชุมชนไทยเบิ้ง มีความเป็นมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาต่างๆ ได้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เราจึงริเริ่มโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้น พร้อมประกาศรับสมัครหาผู้ร่วมกระบวนการที่มีความรักศักดิ์ศรีความเป็นรากเหง้าของไทยเบิ้ง จนมีเด็กๆ เข้ามาร่วมโครงการประมาณ 40 คน พร้อมชักชวนพ่อใหญ่แม่ใหญ่มาร่วมกันถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ โดยใช้กระบวนการของละครเข้ามาเป็นตัวดำเนินเรื่อง ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 6 เดือน จากเด็ก 40 คน ก็ลดลงเหลือเพียง 30 คน หลายคนอาจมองว่าเป็นจำนวนที่น้อย แต่ในความคิดของผมแล้ว ถึงมีเด็กแค่ 3 คน ก็คุ้มค่าต่อการทำงานแล้วกับการลงทุนลงแรงในครั้งนี้” พี่มืด เล่า
พี่มืด เล่าต่อว่า คณะทำงานไม่ได้หวังถึงปริมาณของเยาวชนที่จะเข้าโครงการ แต่ตั้งเป้าหมายไว้ที่การสืบสาน สืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาต่อๆ กันไปยังรุ่นน้อง หรือลูกหลานของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการในอนาคต อย่างน้อย 30 ปีข้างหน้า 1 ในเด็กเหล่านี้อาจเติบโตขึ้นเป็นผู้นำของหมู่บ้าน เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ที่จะสานต่อความตั้งใจของคณะทำงานได้ พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า หากมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงาน องค์กร นักวิชาการที่มีความรู้ มาช่วยกันส่งเสริมความรู้ต่างๆ ให้กับเยาวชน ย่อมจะส่งผลให้เรื่องราวและภูมิปัญญาดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนให้สามารถดำรงอยู่ได้
“งานรวมพลคนไทยเบิ้ง เป็นการรวมตัวกันของคน 2 กลุ่ม คือ ครูภูมิปัญญาหรือพ่อใหญ่แม่ใหญ่ และ เยาวชน ที่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำกิจกรรมดีๆ ด้วยกัน ทำให้วัยเด็กและวัยชรามีความใกล้ชิดกันมากขึ้น นอกจากนี้ ในงานนี้ยังเป็นการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจในด้านวัฒนธรมของเด็กๆ ว่าถูกต้องหรือไม่ โดยเมื่อเด็กๆ แสดงเสร็จ ก็จะมีการกลับมาพูดคุยกับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่นั่งดู ว่าสิ่งที่พวกเขานำเสนอถูกต้องหรือไม่อย่างไร ผมเชื่อว่า เด็กๆ กลุ่มนี้จะเป็นแกนนำที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเบิ้ง เมื่อเห็นภาพในวันนี้ ทำให้ผมฝันไว้ถึงว่า อนาคตของหมู่บ้าน น่าจะอยู่กันอย่างมีความสุข เพระมีผู้นำที่ดีที่เกิดจากการหล่อหลอมด้วยมือของพวกเราเอง” พี่มืด เล่า
ด้าน นางคิด ขยันสลุง ครูภูมิปัญญาของชุมชนไทยเบิ้ง เล่าว่า การร้อง การรำ ถือเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะในการเล่นเพลงหอมดอกมะไพ เพลงระบำบ้านไร่ เพลงโนเน เพลงช้าเจ้าหงษ์ เพลงแห่นาค ซึ่งเป็นเพลงเฉพาะของโคกสลุงโดยเฉพาะ ไม่มีที่ใดเหมือน ในแต่ละเพลงจะเป็นการระหว่างร้องต่อกลอนกันสดๆ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ร้องเกี้ยวพาราสี ต่อว่า หรือเรื่องอื่นๆ แล้วแต่จะเล่น เรียกได้ว่าด้นกันสดๆ ร้องแก้กันไปมา วนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเลิกร้อง
“เด็กๆ รุ่นใหม่ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยรู้จักเนื้อเพลง ตรงจุดนี้เอง ที่ยายได้นำความรู้ที่ได้รับสืบทอดต่อกันมา มาสอนเด็กๆ ต่อ ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ดี โดยมีการคิดต่อยอดไปทำเป็นละครที่มีการผสมผสานทั้งการร้อง การรำ ประวัติความเป็นมาของโคกสลุง และชาวไทยเบิ้ง มานำเสนอเป็นละคร ถือว่าเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมที่เข้าใจง่าย และมีความน่าสนใจ ตัวยายเองก็รู้สึกภูมิใจ เพราะอย่างน้อย หากยายตาย ยายก็แนใจว่า มีเด็กที่มีความรู้และรักการร้อง การรำ และพร้อมที่จะช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของชาวไทยเบิ้งไว้สืบไป” คุณยายอายุ 81 ปี กล่าวด้วยรอยยิ้ม
“ใครว่าสื่อพื้นบ้านกำลังจะหายไป”…
การจะอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีของชาวไทยเบิ้ง ให้คงอยู่คู่กับชุมชนตลอดไป จำเป็นที่จะต้องอาศัย “เยาวชน” เป็นตัวเชื่อมประสานในการขับเคลื่อน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสาวธิดา โมกศักดิ์ หรือ น้องโอ๋ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนโคกสลุงวิทยา 1 ในสมาชิกโครงการละครพื้นบ้านสานสุขเพื่อเยาวชน เล่าว่า การร้อง รำ เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่น้องโอ๋พบเห็นมาแต่เล็ก เนื่องจากคุณยายของน้องโอ๋นั้น ก็รักการร้อง การรำเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อมีงานเทศกาลสงกรานต์ครั้งใด คุณยายก็จะออกไปร้อง ไปรำให้เห็นอยู่ตลอด น้องโอ๋จึงเกิดการซึมซับและรักการร้องรำเหมือนคุณยาย จึงรู้สึกดีใจมาก เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้น ทำให้น้องโอ๋ได้เรียนรู้ในสิ่งที่รัก และมีเวทีในการแสดงออกอีกด้วย
“ไม่เพียงแต่การร้อง การรำเท่านั้น ที่หนูอยากจะอนุรักษ์ ยังรวมไปถึงภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำเนียงที่เปล่งออกมาฟังดูเหน่อคล้ายสุพรรณบุรี แต่เหน่อน้อยกว่าชาวสุพรรณบุรี บางครั้งฟังดูคล้ายสำเนียงทางภาคใต้แต่ช้ากว่า ไม่ออกสำเนียงอีสาน แต่เป็นคำพูดที่แปลกไปจากภาษากลาง และมีศัพท์ที่เฉพาะ เช่น ด๊อก เหว่ย เด๊อ และ เบิ้ง ซึ่งคำว่าเบิ้งนี่เอง ที่คนภายนอกได้ยิน และนำมาเรียกชุมชนของเราว่า ไทยเบิ้ง ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า เบิ้ง ก็คือ คำว่า บ้าง ในภาษากลางนั่นเอง” น้องโอ๋ เล่าให้ฟังอย่างคล่องแคล่ว
นอกจากนี้ น้องโอ๋ ยังบอกอีกว่า การพูดด้วยสำเนียงไทยเบิ้ง ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่เราจะพูดเหน่อ และลงท้ายบางประโยคว่า เบิ้ง แต่อยากให้มองว่า มันคือเอกลัษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้ชุมชนอื่น เพาะเรามีภาษาที่เป็นของไทยเบิ้งเองโดยเฉพาะ นี่ชุมชนอื่นไม่มี และมันคือความเท่ห์ที่ทุกคนในชุมชนควรรักษาไว้
ด้าน นางสาวสุภาวี คำแก้ว หรือ น้องเจน นักเรียนชั้น ม. 5 โรงเรียนโคกสลุงวิทยา 1 ในสมาชิกโครงการละครพื้นบ้านสานสุขเพื่อเยาวชน เล่าให้ฟังว่า กว่า 1 ปี ที่น้องเจนได้เข้าร่วมโครงการจากการชักชวนของคุณครูที่โรงเรียนโคกสลุงวิทยา ทำให้วันนี้น้องเจนได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวไทยเบิ้ง จนก่อเกิดความภาคภูมิใจในหัวใจดวงน้อยๆ ของน้องเจน โดยเฉพาะเรื่องของสำเนียงภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ใช้สืบทอดต่อกันมากว่า 100 ปี ทำให้น้องเจนรู้สึกภาคภูมิใจในถิ่นฐาน และตั้งความหวังกับการเข้าโครงการครั้งนี้ว่า อยากเป็นอีกคนหนึ่ง ที่สร้างตัวอย่างที่ดีแก่น้องๆ รุ่นต่อไป ให้อยากที่จะเข้ามาร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเบิ้ง เพราะสิ่งที่เรามีอยู่ในมือนั้น เป็นของดี หากทายาทรุ่นหลังของชาวไทยเบิ้งไม่ช่วยกันรักษา สิ่งดีๆ เช่นนี้อาจสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย
“หนูเป็นลูกบ้านนี้ เกิดและโตที่นี่ หนูอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ของดี ของบ้านเรา ให้คงอยู่ และ เผยแพร่ให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตในแบบของชาวไทยเบิ้ง” น้องเจน เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าแย้มยิ้ม
ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับชาวไทยเบิ้ง มีการสาธิตการทอผ้าด้วยเครื่องทอผ้าโบราณ การทำขนมโบราณ อาทิ ขนมงา ข้าวโป่ง และอาหารพื้นบ้านอย่างแกงบอน ไข่น้ำ น้ำพริก มาให้ผู้ร่วมงานได้ลิ้มรสความอร่อยกันอย่างถ้วนหน้า นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการทำของเล่นพื้นบ้าน การอยู่ไฟ รวมทั้งแสดงศิลปะพื้นบ้านอย่างการรำโทน กลองยาว การแสดงละครพื้นบ้าน และการร้องเพลงพื้นบ้าน เพื่อขับกล่อมผู้มาร่วมงานอีกด้วย
“…หอมเอย แต่กลิ่น เอยมา หอมดอกมะไพ
หอมเอย แต่กลิ่น เอยมา หอมดอกมะไพ
เพลงหอมแต่กลิ่นนี้มีมานาน ตั้งแต่โบราณปู่ย่าตายาย
หอมเอยดอกมะไพ ดอกมะไพหอมเอย…”
เสียงร้องเพลงหอมดอกมะไพจากเยาวชนและครูภูมิปัญญา เป็นเพลงที่ยังคงถูกร้องสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย และ สสส. ยังเชื่ออีกว่า เพลงหอมดอกมะไพนี้จะยังถูกขับขานด้วยลูกหลานชาวไทยเบิ้งที่จะช่วยกันพลิกฟื้นสื่อพื้นบ้านให้กลับมามีชีวิตสืบไป…
เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบ : นพรัตน์ นริศรานนท์ Team content www.thaihealth.or.th
Update 01-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์