“มูเจคี”ดีจัง ป่าสนวัดจันทร์

 

การแสดงมาบือมาฮือ
 
ควันไฟลอยโขมงอยู่ในครัวไม้ไผ่ผ่าซีก หญิงสาวในชุดพื้นเมืองยกหม้อใบเขื่องวางบนกองไฟ ค่อยๆ ใส่เครื่องปรุงลงไป เริ่มจากกระเทียม หอมใหญ่ รากผักชีโขลกรวมกันจนละเอียด ตามด้วยเนื้อหมูหั่นเป็นชิ้น และฟักขนาดพอดีคำ คนจนเข้ากันแล้วใส่น้ำตามลงไป
 
ต่อด้วยข้าวสารเม็ดอ้วนสั้นแปลกตา กวนๆ คนๆ จนเม็ดข้าวนิ่มเหมือนโจ๊กจึงยกลงจากเตา ได้เป็น “ข้าวเบอะ” อาหารหน้าตาแปลกแต่หอมฉุย ที่ชาวปกาเกอะญอเอาไว้ต้อนรับแขก
 
“ข้าวเบอะ” เป็นชื่อเรียกของคนเมือง แต่ปกาเกอะญอเรียกว่า “ตาพอพ่อ”
 
ที่ “มูเจคี” (ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น อ.กัลยา ณิวัฒนา จ.เชียงใหม่) วิธีทำอาหารชนิดนี้ยังถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แม้ในหมู่บ้านจะเริ่มมีร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหารตามสั่ง กระทั่ง “มูเจคีคอฟฟี่” แต่วัฒน ธรรมการปรุงอาหารแบบปกาเกอะญอ เช่น นี้ก็ยังคงอยู่
 
ชื่อ “มูเจคี” แปลว่า “พื้นที่ต้นน้ำแม่แจ่ม” เป็นที่ตั้งของ “ป่าสนวัดจันทร์” บริเวณนี้ตั้งอยู่บนที่สูง อุดมด้วยป่าสน และอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี จึงมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมอยู่เนืองๆ
 
แต่ด้วยเหตุที่อยู่ห่างจาก อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของยุคนี้เพียงไม่กี่กิโลฯ ทำให้พี่น้องปกาเกอะญอบางคนกลัวว่า อีกหน่อยเมื่อคนเบื่อปาย ก็จะพากันมาที่นี่ และเมื่อนั้น…มูเจคีอาจไม่เหมือนเดิม
 
หลังจากเปิดตัวกิจกรรม “พื้นที่นี้…ดีจัง” ครั้งแรกที่แพร่งภูธร กรุงเทพฯ และต่อมาที่ อ.บางแก้ว จ.เพชรบุรี คราวนี้ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับกลุ่มดินสอสี และภาคีพี่น้องชนเผ่า พากันมาเปิดพื้นที่ “เล่น เรียนรู้ ริเริ่ม ร่วมทำ แบ่งปัน” ที่มูเจคีนี้ด้วย
 
เป้าหมายเพื่อรวมพลเด็ก เยาวชน และคนสร้างสรรค์พื้นที่ มาจัดมหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ รณรงค์ให้สังคมร่วมกันสร้างประเทศให้น่าอยู่ โดยเริ่มต้นจากการค้นหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนของพวกเขาก่อน
 
แล้วมูเจคีมีดีอย่างไร
 
ที่นี่ประชากร 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นปกาเกอะญอ รองลงมาคือ ม้ง และลีซู ถือว่าเป็นอำเภอแรกของประเทศไทย ที่ประชากรทั้งหมดเป็นคนชนเผ่า ที่สำคัญคือเป็นชุมชนที่ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
 
   
 
ที่เห็นได้ชัดคือ ความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาป่า ชาวมูเจคีมีพื้นที่ที่เรียกว่า “ป่าเดปอ” หรือ “ป่าสะดือ” เด็กแรกเกิดทุกคน พ่อแม่จะเอาสายสะดือใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วผูกติดไว้กับต้นไม้ ตามความเชื่อที่ว่า “ชีวิตเราทุกคนผูกติดอยู่กับธรรมชาติ”
 
ต้นไม้ที่เป็นที่ผูกสายสะดือนี้ เมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้น จะต้องช่วยดูแลรักษาไว้ตลอดชีวิต ถ้าปล่อยให้ต้นไม้ของตัวเองถูกทำลาย เจ้าของสายสะดือก็จะป่วยไข้ นับเป็นกุศโลบายด้านการอนุรักษ์ ที่ทำให้ป่าของชาว มูเจคียังอุดมสมบูรณ์อยู่ถึงทุกวันนี้
 
เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งคือ “การแต่งกายแบบชนเผ่า” แม้วัยรุ่นมูเจคีจะซึมซับแฟชั่น “กางเกงเดฟ ผมชี้ ปากแดง” จากคนเมืองมาบ้าง แต่ในวันสำคัญของชนเผ่า หรือวันอาทิตย์ ที่จะต้องเข้าร่วมพิธีในโบสถ์ ทุกคนจะพร้อมใจกันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าปกาเกอะญอ สวยงามทั้งสีสัน และลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์
 
ชุดเชวา
 
หญิงที่ยังไม่แต่งงาน จะแต่งชุด “เชวา” เป็นเสื้อตัวยาว สีขาว สื่อถึงความบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ ส่วนขอบสีแดงที่ชายเสื้อ เป็นเครื่องเตือนใจว่า จะรักษาความบริสุทธิ์นี้ไว้จนกว่าจะออกเรือน
 
ชุดเชซู
 
ขณะที่หญิงซึ่งแต่งงานแล้วจะนุ่งผ้าซิ่น ใส่เสื้อสีเข้ม เรียกว่า “เชซู” สีโทนมืดจะบอกว่า ชีวิตเข้าสู่วัยที่มีภาระ และความรับผิดชอบมากขึ้น ส่วนลายผ้าที่ทอจนแน่น แสดงถึงครอบครัวที่อบอุ่น
 
ด้านเสื้อ “เชวอ” ของฝ่ายชาย แม้จะคล้ายกับ “เชซู” แต่ต่างกันที่ส่วนใหญ่มักเป็นสีแดง แสดงถึงความกล้าหาญ หากพู่ที่ติดกับเสื้อเป็นสายสั้น แสดงว่าชายนั้นแต่งงานแล้ว แต่ถ้าพู่ยาว หมายถึง ยังเป็นชายโสด
 
สาวๆ ปกาเกอะญอกระซิบบอกว่า ถ้าจะเลือกคนมาเป็นคู่ ให้ดูว่าพู่ที่เสื้อสวยงาม สะอาดดีหรือไม่ เพราะถ้ารักษาพู่ได้ดี ก็แสดงว่าจะดูแลเราได้ดีด้วย
 
เที่ยวเล่นถึงตกเย็น เด็กๆ พาไปรวมตัวที่โรงเรียนสหมิตรวิทยา เพื่อร่วมสนุกกับซุ้มกิจ กรรมต่างๆ เด็กเล็กๆ เลือกไปประดิษฐ์ดอกไม้ และพวงกุญแจจากลูกสน เด็กผู้ชายที่โตขึ้นมาหน่อยสาละวนอยู่กับการทำแก้วน้ำจากไม้ไผ่
 
ขณะที่เด็กหญิงหลายคนสนใจกิจกรรมทอผ้า หรือทำ “ขนมข้าวปุ๊ก” ซึ่งได้จากการนำข้าวเหนียวไปทุบ แล้วทอดหรือย่าง กินร้อนๆ กับน้ำผึ้ง
 
ละครพื้นบ้านปอเลอะเปลอ
 
ส่วนกิจกรรมบนเวที ภาคีพี่น้องชนเผ่า เตรียมการแสดงมาเต็มที่ ทั้งการเต้นรำ “มาบือมาฮือ” สะท้อนการทำไร่ ทำสวนของชาวปกาเกอะ ญอ การแสดงกล่อมลูก โดยเยาวชนโชโพเก่อเรอ และละครนิทานพื้นบ้าน หรือ “ปอเลอะ เปลอ” ที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้จากรอบเวที
 
ยามค่ำที่มูเจคีอากาศหนาวจับใจ แม้ข้างบนดาวจะลอยอยู่เต็มฟ้า แต่ทุกคนสนใจแสงไฟ และเสียงดนตรีจากเวทีมากกว่า
 
 
เสียง “เตหน่า” เครื่องดนตรีประจำเผ่าปกาเกอะญอ ดังขึ้นกลางขุนเขา เล่าเรื่องราวความผูกผันอันยาวนานระหว่างผู้คนและธรรมชาติ ยิ่งดึกน้ำค้างยิ่งหนาว ผู้เฒ่ากระชับเด็กตัวน้อยมาอยู่ในอ้อมกอด
 
ไม่รู้เพราะเสียงดนตรี หรือเพราะอากาศเป็นใจ ใครๆ ในที่นั้น จึงรู้สึกเหมือนกันว่า “มูเจคี…พื้นที่นี้ดีจัง”
 
      
 
 
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด โดย วิภาวี จุฬามณี
Shares:
QR Code :
QR Code