พิทักษ์สังคม ไม่หลงกลกลยุทธ์บริษัทน้ำเมา

โฆษณาแฝงที่มากับงานบุญ

พิทักษ์สังคม ไม่หลงกลกลยุทธ์บริษัทน้ำเมา

 

         วันเข้าพรรษาใกล้เข้ามาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะสังเกตได้คือ ในช่วงวันสำคัญทางศาสนานี้นอกจากจะเป็นวันที่ประชาชนออกมาทำบุญทางศาสนาแล้ว  จะเห็นหลายๆ หน่วยงานออกมาร่วมกันรณรงค์ให้เริ่มต้นทำสิ่งดีๆ เช่น การงดเหล้าเข้าพรรษา 

 

         อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงคือบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่างก็พยายามงัดกลยุทธไม่ว่าจะเป็น ลด-แลก-แจก-แถม หรือ แม้กระทั่งเอาสาวๆ พริตตี้มาเรียกลูกค้าในทุกช่วงเทศกาล และไม่เว้นกระทั่งเทศกาลเข้าพรรษา

 

         กลยุทธ์รูปแบบหนึ่งที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นิยมทำคือ การให้การสนับสนุนหรือเป็นสปอนเซอร์ให้กับกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน เช่น งานบุญ งานกีฬา หรืองานประจำจังหวัด เป็นต้น รวมถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีเจตนาโฆษณาแฝงเข้ามา เพื่อที่จะให้เกิดผลประโยชน์กับบริษัทมากที่สุด

 

            นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในมุมมองของตนสำหรับเรื่องนี้ ตนมองว่าการที่บริษัทจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกมาทำกิจกรรมที่ช่วยเหลือสังคมนั้น เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับทางบริษัทเอง เพื่อที่จะให้สังคมได้เกิดการยอมรับ ว่าตัวบริษัทก็สร้างประโยชน์เช่นกัน และนอกจากจะสร้างภาพลักษณ์แล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมยอดขายหรือแฝงการขายของไปด้วยในตัว โดยเห็นได้จากการที่บริษัทเหล่านั้นเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในงานกิจกรรมต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการโฆษณาแอบแฝง 

 

         รูปแบบกิจกรรมที่บริษัทจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นิยมทำ ก็จะเป็นในส่วนกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เช่น การสนับสนุนด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านกีฬา ด้านสาธารณสุข ด้านวัฒนธรรม เป็นต้น เพราะกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ช่วยให้ภาพลักษณ์บริษัทดีขึ้น  

 

         ผู้จัดการเครือข่าย สคล. กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการจัดการป้องกันในเรื่องนี้ สามารถทำได้ 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกจะใช้กฎหมายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยถือตาม พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

 

         ส่วนการรับสปอนเซอร์จากบริษัทน้ำเมา เราก็ต้องดูว่า มีการโฆษณา หรือเป็นการส่งเสริมการขายหรือไม่ด้วย โดยการทำหน้าที่จะทำหน้าที่มอนิเตอร์เฝ้าระวัง หากเห็นว่ามีสิ่งผิดปกติของบริษัทเหล่านี้ในการเป็นผู้สนับสนุนหรือทำกิจกรรมต่างๆ  ทางเราก็จะประสานไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการจัดการโดยทันที

 

         ผู้จัดการเครือข่าย สคล. กล่าวต่อไปว่า ส่วนรูปแบบที่สอง สคล.จะทำให้เกิดเป็นนโยบายที่ชัดเจน ในเรื่องไม่ให้มีการจำหน่ายสุรา ในงานสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ  ยกตัวอย่างเช่น งานสำคัญตามจังหวัดต่างๆ

 

         ยกตัวอย่างงานกาชาด ของแต่ละจังหวัดนั้น จะต้องไม่ให้มีการจำหน่ายเหล้า เบียร์ภายในงาน ทางกระทรวงมหาดไทยก็จะเป็นฝ่ายเข้ามาควบคุมด้วย เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าปลอดเครื่องดื่มแอลกฮอล์แท้จริง เพราะถือว่างานกาชาดเป็นงานที่ทำเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่เครื่องดื่มส่งผลทำลายสุขภาพของมนุษย์ ตรงนั้นก็จะทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของงานกาชาดผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สคล. กล่าว

 

         โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาที่จัดขึ้นในแต่ละปีนั้น  ถือได้ว่าเป็นโครงการที่ทำออกมาเพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง เพราะจะเห็นได้ว่าในแต่ละปี จำนวนนักดื่มสุราหน้าใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่บรรดานักดื่มรุ่นเก่าก็ไม่มีทีท่าจะลดลง ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาที่เลวร้ายขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มีต้นเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ทั้งสิ้น ดังนั้น หากเราสามารถช่วยกันรณรงค์และไม่ตกเป็นเหยื่อกลของบริษัทผู้ผลิตแอลกฮอล์แล้ว เชื่อแน่ว่า สังคมของเราจะต้องเป็นสังคมที่น่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม

 

 

 

 

 

 

ที่มา: คมสัน ไชยองค์การ Team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

Update: 15-07-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

Shares:
QR Code :
QR Code