พัฒนาคู่มือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดใช้ความรุนแรง

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบจาก สสส.


พัฒนาคู่มือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดใช้ความรุนแรง thaihealth


สสส. กรมกิจการสตรีฯ ผนึก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ยังน่าห่วง ช่วงโควิด-19 ยิ่งรุนแรง เหตุรายได้หด-เหล้ายากระตุ้น เสนอ 4 ชุมชนโมเดล หวังสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางสังคม ผ่าน “คู่มือการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน”


  พัฒนาคู่มือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดใช้ความรุนแรง thaihealth


เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ เดอะฮอลล์ กรุงเทพ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมเนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี


พัฒนาคู่มือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดใช้ความรุนแรง thaihealth


โดยนางสาวกรรณณิกา เจริญลักษณ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ พม. กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว สค. พบว่าสถิติของผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวในช่วงเดือน ต.ค. 2562 – เม.ย. 2563 มีจำนวน 141 ราย แบ่งออกเป็นความรุนแรงทางร่างกาย ร้อยละ 87 ทางเพศ ร้อยละ 9 และทางจิตใจ ร้อยละ 4 ส่วนปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ยาเสพติด ร้อยละ 35 บันดาลโทสะ ร้อยละ 33 หึงหวง ร้อยละ 25 สุรา ร้อยละ 17 เท่ากับการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 17 อาการจิตเภท ร้อยละ 9 และจากเกม ร้อยละ 2 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ภาคกลาง อีสาน ใต้ เหนือ และ กทม. ตามลำดับ


ส่วนสถิติความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2559 – ถึงเมษายน 2563 พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี หรือ 118 ราย/เดือน เฉลี่ย 4 ราย/วัน ดังนั้น สค.จึงร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ด้วยการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนให้เป็นกำลังสำคัญ สามารถช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาในชุมชนได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เป็นกลไกขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ จำนวน 7,149 แห่ง


พัฒนาคู่มือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดใช้ความรุนแรง thaihealth


นางภรณี ภู่ประเสริฐ  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC :United Nations Office on Drugs and Crime) พบว่ากว่า 87% ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน เพื่อหาผู้กระทำผิด หรือให้ทางการรับรู้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% ภาคใต้ มีความรุนแรงในครอบครัวถึงร้อยละ 48.1 และกรุงเทพฯ พบความรุนแรงในครอบครัว น้อยที่สุด ร้อยละ 26 ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ รายได้ของครอบครัว และการใช้สารเสพติด เช่น สุรา บุหรี


พัฒนาคู่มือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดใช้ความรุนแรง thaihealth


ในการแก้ปัญหา สสส. สนับสนุนโครงการพัฒนาและยกระดับกลไกชุมชนและทีมสหวิชาชีพ ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางสังคม ผ่านมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว เพื่อพัฒนากลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่นำร่อง 4 ชุมชน จนเกิดรูปแบบการทำงานในการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว โดยการเชื่อมร้อยกลไกระดับพื้นที่ ให้มีเป็นคณะทำงานในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งกลไกระดับชุมชน ระดับเครือข่ายชุมชนขยาย และระดับภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเกิดนโยบายระดับพื้นที่ในการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว


พัฒนาคู่มือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดใช้ความรุนแรง thaihealth


น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กสตรีและครอบครัว ยังคงน่าห่วง มูลนิธิฯร่วมกับ สสส.และ สค.จัดทำหนังสือ “คู่มือการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน” เพื่อถ่ายทอดบทเรียนการทำงานของแกนนำชุมชน 3 รูปแบบ ในพื้นที่ชุมชนเมือง คือ ชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต ชุมชนซอยพระเจน เขตปทุมวัน และชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กทม. พื้นที่ชุมชนชนบท คือ ชุมชนบ้านคำกลาง ต.โนนหนามแท่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ และพื้นที่แรงงานอุตสาหกรรม คือ สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา(ไทยเกรียง) ซึ่งคู่มือฉบับนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานในชุมชน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นำไปประยุกต์ใช้สร้างพื้นที่ปลอดภัยทางสังคม


พัฒนาคู่มือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดใช้ความรุนแรง thaihealth


“ความน่าสนใจของคู่มือ เช่น ทำอย่างไรถึงจะเกิดการคุ้มครองทางสังคม การมีพื้นที่ปลอดภัย แกนนำอาสาสมัคร ทีมสหวิชาชีพ เครือข่ายชุมชนกับเทคนิคการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว กระบวนการคุ้มครองทางสังคมโดยชุมชน รวมถึงสอดแทรกแนวคิดความเสมอภาคระหว่างเพศ บทบาทหญิงชาย อำนาจนิยม การพิทักษ์สิทธิและคุ้มครองทางสังคม การสร้างและพัฒนาระบบการทำงานและตัวชี้วัดการสร้างพื้นที่ปลอดภัย จึงควรนำคู่มือนี้ไปขยายผลสู่ผู้ปฏิบัติงานในชุมชน และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ โดยในปี 2564 คณะทำงานฯ จะผลิตคู่มือฉบับแกนนำชุมชนด้วย” น.ส.อังคณา กล่าว


พัฒนาคู่มือสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดใช้ความรุนแรง thaihealth


นางนัยนา ยลจอหอ ผู้แทนชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กล่าวว่า แนวทางการทำงานของเครือข่ายชุมชนวัดสวัสดิ์ฯ จะเก็บรวบรวมข้อมูลจากเคสความรุนแรง เพื่อหาสาเหตุและกำหนดเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังขยายพื้นที่จาก 42 ชุมชนในเขตดุสิตไปยังชุมชนอื่นในเขตกรุงเทพฯ โดยเริ่มจากการเชิญคณะกรรมการของแต่ละชุมชน เข้าอบรมทำความเข้าใจ เมื่อเกิดเหนุขึ้น จะได้หาแนวทางป้องกันและแก้ไขได้อย่างถูกต้องทันท่วงที ซึ่งเครือข่ายวัดสวัสดิ์พร้อมเป็นแกนกลางให้ชุมชนอื่นประสานความช่วยเหลือ สำหรับการต่อยอดการทำงานให้ยั่งยืน บูรณาการงานทั้งหมดที่มีอยู่ในชุมชนเข้าด้วยกัน เช่น การทำเกษตรกรรม และการฝึกทักษะอาชีพเข้ามาเยียวยาจิตใจผู้ถูกกระทำ เป็นต้น

Shares:
QR Code :
QR Code