ปั้น “Gen-H” นักสื่อสารสุขภาพรุ่นใหม่ นำร่อง 4 จังหวัด สกัดภัยบุหรี่ไฟฟ้า-อุบัติเหตุในเยาวชน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
นักสื่อสารสุขภาพ GEN-H สถาบันยุวทัศน์ ฯ สสส. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขับเคลื่อนผลิตคนรุ่นใหม่เป็นนักสื่อสารสุขภาพ เตือนภัย-สร้างสรรค์เนื้อหาเข้าสู่ระบบสื่อสังคมออนไลน์-เป็นต้นแบบที่ดี นำร่อง 4 จังหวัด หลังพบเยาวชน 25% สูบบุหรี่ไฟฟ้า 37.68% ของอุบัติเหตุเป็นเด็กและเยาวชน ตั้งเป้าลด “บุหรี่ไฟฟ้า-อุบัติเหตุทางถนน”
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 พ.ค.2568 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) และกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยโครงการผลักดันกลไก ยุว อสม. และอาสาสร้างสุขภาพ (Gen-H) ร่วมสื่อสารภัยสุขภาพในเด็กและเยาวชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเทคนิคด้านการสื่อสารสุขภาพของอาสาสร้างสุขภาพ (Gen-H)
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่หลากหลาย โดยเฉพาะ บุหรี่ไฟฟ้าและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จากข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ปี 2566 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำรวจเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี ทั่วประเทศ 61,688 คน พบสูบบุหรี่ไฟฟ้า 25% หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเด็กและเยาวชนทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์อุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (Thai RSC) ปี 2567 ไทยมีผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุทางถนน 118,660 คน เป็นเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี สูงถึง 37.68% ที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ 78.08% สสส. จึงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นทำงานด้านการควบคุมยาสูบ การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต
“สสส. ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์ฯ และกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผลักดันกลไก ยุว อสม. และอาสาสร้างสุขภาพ หรือ Gen-H ตั้งเป้าผลิตคนรุ่นใหม่นำร่อง 4 จังหวัด อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช ระยอง และนนทบุรี เป็นนักสื่อสารสุขภาพลดพฤติกรรมเสี่ยงสูบบุหรี่ไฟฟ้าและอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน พร้อมขยายพื้นที่การดำเนินงานและจำนวนสมาชิกเครือข่าย ยุว อสม. หรืออาสาสร้างสุขภาพ ทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในสถานพยาบาลและงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของประเทศได้” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการผลักดันกลไก ยุว อสม. และอาสาสร้างสุขภาพ (Gen-H) มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา สื่อสารสุขภาพตามหลัก 3H คือ 1. Health Communicator การทำหน้าที่สื่อสารเตือนภัยสุขภาพ 2. Health Creator เป็นผู้ทำหน้าที่ผลิตหรือสร้างสรรค์เนื้อหาเข้าสู่ระบบสื่อสังคมออนไลน์ 3. Health Influencer เป็นต้นแบบหรือตัวอย่างที่ดีของคนรุ่นใหม่ใส่ใจปัญหาสุขภาพ หรือเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตแบบดูแลสุขภาพ ลดการเจ็บป่วย ทั้งนี้ ตั้งเป้าให้แกนนำนักเรียน นักศึกษา กลับไปสื่อสารสุขภาพ ในประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าและอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน