ปลุกพลังชุมชน เป็นผู้ออกแบบอนาคต สร้างส่วนร่วม-เรียนรู้-เปลี่ยนแปลง แก้ ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
ชุมชนร่วมแก้ปัญหา ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’ สสส. สานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ บูรณาการการทำงานหนุนเสริมพลังสร้างการเรียนรู้-ส่วนร่วม-เปลี่ยนแปลง ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน ปลุกพลังชุมชน เป็นผู้ออกแบบอนาคต สู่การปฏิรูประบบสุขภาวะทั้งระบบ สร้างพลเมืองเป็นหัวใจของการขับเคลื่อน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 ก.ค. 2568 ที่ ห้องรอยัล จูบิลี ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม จัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2568” วาระ “พลังชุมชนท้องถิ่นอภิวัฒน์ระบบสุขภาวะประเทศ” สู่การเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างสุขภาพของประเทศ นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สสส. ได้กล่าวในหัวข้อ บทเรียนการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน…ขยายผลสู่การอภิวัฒน์ระบบสุขภาวะประเทศ ว่า การสร้างสุขภาวะชุมชน ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่คือการจุดพลังของชุมชนท้องถิ่นให้สามารถจัดการตัวเองได้ บทเรียนที่สำคัญจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อย่างต่อเนื่อง พบว่า การใช้พื้นที่เป็นฐาน และสนับสนุนให้ชุมชนจัดการตนเอง เป็นหัวใจของการพัฒนาที่แท้จริง ทุกตำบลลุกขึ้นมาสำรวจตนเอง วางแผน แก้ปัญหา และสร้างทางออกที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเองคือสิ่งที่ยั่งยืน
“สุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องการรักษา แต่คือระบบที่ต้องผนึกกำลังกันระหว่างท้องถิ่น ชุมชน และภาคีทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการ ‘อภิวัฒน์ระบบสุขภาวะประเทศ’ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว จึงต้องเดินหน้าสู่ระบบสุขภาพใหม่ ที่ไม่ใช่แค่รักษา แต่ต้องสร้างสุขภาพแบบองค์รวม ประชาชนต้องมีสิทธิ์มีเสียง และภาคีได้ร่วมออกแบบระบบร่วมกัน ยุทธศาสตร์ต่อไปคือการขยายผลบทเรียนความสำเร็จจากตำบลต้นแบบ สู่ระบบสุขภาวะในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ โดยมีการนำใช้ข้อมูล การพัฒนานวัตกรรม และการสร้างกลไกการบริหารจัดการพื้นที่ เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นบริหารตนเองได้อย่างแท้จริง การอภิวัฒน์ระบบสุขภาวะประเทศไม่ใช่แค่การตั้งเป้าหมายใหญ่ แต่คือการลงมือทำในระดับชุมชน ให้มีเครื่องมือ ความรู้ และอำนาจในการตัดสินใจ ใช้การสื่อสารเพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน” นพ.พิศิษฐ์ กล่าว
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565–2570 และประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth In Charge กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาวะของไทย ไม่ใช่เพียงการสร้างระบบใหม่ แต่คือการเปลี่ยนระบบคิด และระบบคุณค่าของสังคมไทยทั้งระบบ โดยเริ่มต้นจากฐานรากที่สำคัญที่สุด นั่นคือชุมชนท้องถิ่น ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงระบบ วิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ล้วนส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนโดยตรง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องขยับจากระบบที่ขับเคลื่อนด้วย GDP ไปสู่ระบบที่ยึดหลัก Total Well-being การเติบโตที่ไม่ใช่แค่ฉลาด (Smart Growth) แต่ต้องถูกทาง (Rightful Growth) คือเติบโตอย่างมีความหมาย มีคุณค่า และสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิญญาณ
“Thailand Imagineering คือการลุกขึ้นมากำหนดอนาคตร่วมกัน หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสุขภาวะแบบองค์รวม คือการสร้างชุมชนท้องถิ่นให้กลายเป็น ‘ผู้ออกแบบอนาคตของตนเอง’ โดยใช้พลัง 5 หัวใจ หรือ 5 DNA ชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ Inclusive: เปิดกว้าง ครอบคลุม Participative: ร่วมคิด ร่วมทำ Responsive: ตอบสนองต่อปัญหาได้รวดเร็ว Regenerative: ฟื้นฟูอย่างยั่งยืน Innovative: สร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างชัดเจนในหลายพื้นที่คือการลุกขึ้นมาร่วมออกแบบ ‘ผังแม่บทชุมชน’ ด้วยตนเอง มีการใช้เทคโนโลยีท้องถิ่นพัฒนาระบบสุขภาพ สร้างศูนย์การเรียนรู้ข้ามรุ่น และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากพลังของประชาชนเอง สุขภาวะที่แท้จริง ที่เกิดจากระบบคุณค่าที่คนในชุมชนร่วมกันกำหนดการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่น ให้กลายเป็น ‘พื้นที่ของชีวิตที่ดี’ ต้องอาศัยทั้งวิสัยทัศน์ เครื่องมือ และอำนาจในการตัดสินใจร่วมกันของพลเมืองทุกคน เพื่อเปลี่ยนจากชุมชนผู้รอรับ ไปสู่ชุมชนผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” ดร.สุวิทย์ กล่าว