“น้ำนมข้าวโพด”ผลิตผล…ของคนอาชีวะ

วิทยาลัยเกษตรสร้างชื่อ”น้ำนมข้าวโพด”ครองแชมป์ อกท. 2 สมัย

 

“น้ำนมข้าวโพด”ผลิตผล…ของคนอาชีวะ            นับเป็นอีกหนึ่งผลงานของความสำเร็จที่ทำให้คนอาชีวะได้ภาคภูมิใจ กับการชนะเลิศการแข่งขันทักษะระดับชาติของวิทยาลัยการเกษตร ถึง 2 ปีซ้อน ในผลงาน น้ำนมข้าวโพดของวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในการแข่งขันทักษะองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2550

 

            นายจักรี ทองวิเศษ หัวหน้าแผนกวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการน้ำนมข้าวโพด เล่าว่า นอกจากความภาคภูมิใจที่ผลงานที่ตนนำเสนอได้รับรางวัลชนะเลิศแล้ว สิ่งที่ภูมิใจยิ่งกว่า คือการที่สามารถช่วยเหลือและส่งเสริมสินค้าเกษตรของเกษตรกรในท้องถิ่น

 

            ครั้งแรกที่เข้าประกวดการแข่งขันทักษะระดับภาค ในหัวข้อ การทำน้ำนมจากพืช ก็คิดว่านอกจากจะส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวด ทำอย่างไรถึงจะช่วยส่งเสริมสินค้าเกษตรในชุมชนได้ จึงสังเกตวัตถุดิบในท้องถิ่น พบว่า ปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนมาก จึงได้แนวคิดการทำน้ำนมข้าวโพด จนได้รับรางวัลเป็นอันดับที่ 3 ของภาค จากนั้นเราก็พัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ รวมทั้งศึกษาข้อมูลจากทีมคู่แข่ง ทำให้น้ำนมข้าวโพด สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศติดต่อกันถึง 2 ปีซ้อนในการแข่งขันระดับประเทศอาจารย์จักรี เล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

 

            นอกจากรสชาติที่กลมกล่อม และ มีกลิ่นหอมน่ารับประทานแล้ว อาจารย์จักรียังได้บอกถึงประโยชน์ของน้ำนมข้าวโพดว่า ปัจจัยสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่เลือกแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด เพราะเห็นว่ามีสารอาหาร โพลีนที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นสารที่ช่วยในเรื่องความจำดี ช่วยแก้ไขปัญหาความจำเสื่อม และทำให้สมองสดใส อีกทั้งสามารถช่วยรักษาโรคอัมพฤกษ์และอัมพาตได้

 

            เมื่อผลิตภัณฑ์จากน้ำนมข้าวโพดได้รับการตอบรับอย่างดี อาจารย์จักรี จึงได้คิดแปรรูปเพื่อพัฒนาน้ำนมข้าวโพด ให้เป็นสินค้าไอศกรีม จึงเริ่มนำน้ำนมข้าวโพดมาทำเป็นไอศกรีมหลอด แต่ปรากฏว่า ไอศกรีมหลอด สามารถผลิตได้ในปริมาณที่น้อย และเก็บรักษาได้ยาก จึงแปรรูปเป็นไอศกรีมปั่น ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก อีกทั้งง่ายต่อการเก็บรักษา เคลื่อนย้ายสะดวก

 

            นอกจากนี้ อาจารย์จักรี ยังได้นำทีมงานน้ำนมข้าวโพดออกเผยแพร่ กรรมวิธีการผลิตแก่นักศึกษาและผู้สนใจในท้องถิ่น แต่เนื่องจาก คนในท้องถิ่นไม่มีความชำนาญในการวิจัย ขาดแคลนอุปกรณ์ และไม่มีเงินทุนในการผลิต จึงทำให้ไม่มีใครสารต่อโครงการนี้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ อาจารย์จักรีจึงฝากวอนขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลงมาดูแลและให้ความช่วยเหลือนักศึกษาและผู้สนใจในส่วนนี้ด้วย

 

            มีคนสนใจโครงการน้ำนมข้าวโพดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักศึกษาที่เคยร่วมทำโครงการนี้ด้วยกัน แต่ปรากฏว่า เมื่อเรียนจบ นักศึกษาเหล่านี้ ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะซื้อเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิต จึงหันเหไปประกอบอาชีพอื่นแทน แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล ช่วยเหลือเรื่องเงินทุน และอุปกรณ์ในการผลิต ก็จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการมีอาชีพของนักศึกษาอาจารย์จักรี กล่าว

 

            หนึ่งในทีมงานน้ำนมข้าวโพด นางสาวจรินพร อภิรักษากร นักศึกษาวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น สาขาอุตสาหกรรมเกษตร เล่าว่า เมื่อครั้งเริ่มทำน้ำนมข้าวโพด ขาดแคลนทั้งเครื่องมือ และทุนทรัพย์ในการผลิต ต้องใช้เครื่องปั่นน้ำผลไม้มาปั่นน้ำนมข้าวโพด ทำให้รู้สึกท้อแท้มาก ทั้งน้ำข้าวโพดที่ผลิตได้มีกลิ่นเหม็น ต้องทำการทดลองหาพันธุ์ข้าวโพดที่ทำให้น้ำนมข้าวโพดมีกลิ่นหอม จนได้พันธุ์ข้าวโพดนิ่มแทนข้าวโพดดิบที่เคยใช้  แต่เมื่อโครงการได้รับรางวัลชนะเลิศ ตนรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการน้ำนมข้าวโพด

 

            น้ำนมข้าวโพดอีกผลิตผลหนึ่งที่สร้างความภาคภูมิใจ แก่วิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น ด้วยกลิ่นที่หอม และรสชาติกลมกล่อม จึงไม่ยากเลยที่น้ำนมข้าวโพดจะเข้าไปครองใจผู้ที่ได้ลิ้มรส และครองแชมป์ อกท. ถึง 2 สมัย…

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team Content www.thaihealth.or.th

 

 

Update 12-05-51

Shares:
QR Code :
QR Code