‘ที่ไหนก็เล่นได้’ แก้เด็กติดจอ

ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ สร้างสุข ฉบับที่ 179


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'ที่ไหนก็เล่นได้' แก้เด็กติดจอ thaihealth


การสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กอยากทำกิจกรรมก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะดึงเด็กออกจากพฤติกรรมหน้าจอ นั่งจ่อมได้โดยให้คิดไว้เสมอว่า ‘ที่ไหนก็เล่นได้’ ซึ่งกิจกรรมสำหรับเด็กมีหลากหลายตั้งแต่ระดับเบาไปถึงหนัก เล่นคนเดียว เล่นเป็นคู่ เล่นเป็นกลุ่ม


ในบ้าน : จัดสรรพื้นที่ให้เด็กพอที่สามารถกระโดดเชือก หรือตีลังกาก็เพียงพอ


ชุมชน : หากชุมชนเห็นความสำคัญ ก็สามารถจัดสรรพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันหนึ่งวันในรอบสัปดาห์ เช่น กิจกรรมปิดถนนเส้นเล็กในชุมชน ให้เด็กได้วิ่งไล่จับ หรือเล่นการละเล่นไทยอื่นๆ เช่น มอญซ่อนผ้า ม้าก้านกล้วย


พื้นที่ว่างในชุมชน : ชุมชนสามารถจัดการพื้นที่ให้สะอาดและปลอดภัย เพื่อกระตุ้นให้เด็กออกมาเล่นกิจกรรมที่หลากหลายในเวลาว่างได้


ธรรมชาติรอบตัว : ในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นกับธรรมชาติรอบตัว การห้อยโหนหรือปีนป่ายต้นไม้ จะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะทั้งกาย สังคม และสมอง


'ที่ไหนก็เล่นได้' แก้เด็กติดจอ thaihealth


สสส. สนับสนุนการทำงานเรื่องสื่อสร้างสรรค์ และพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายมิติ ภายใต้แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา เพื่อทำให้เกิดกิจกรรมซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชากรให้เพิ่มกิจกรรมทางกาย อีกทั้งยังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี เพื่อสร้างค่านิยมและคุณสมบัติพึงประสงค์ในเด็กและเยาวชน พัฒนาทักษะเท่าทันสื่อ จิตสำนึกสุขภาพ และทักษะชีวิตโดยพัฒนาสมรรถนะการเป็นนักคิด นักเรียนรู้ นักเชื่อมโยง สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่สังคม ก้าวไปสู่การเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะในตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม


สื่อดี ทุกคนมีโอกาสได้รับและใช้สื่อรวมทั้งสร้างสื่อที่เหมาะสม และมีประโยชน์ต่อตนเอง ต่อชุมชน และสังคม


พื้นที่ดี ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบและสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ร่วมกัน เป็นพื้นที่ได้เรียนรู้ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สร้างพื้นที่ที่เสริมคุณค่า และพลังให้กับตนเอง ครอบครัว เป็นพื้นที่สร้างสำนึกร่วมของชุมชน


ภูมิดี ทุกคนมีทักษะคิด วิเคราะห์ สร้างภูมิคุ้มกันให้เท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง เท่าทันสังคม โดยใช้ภูมิปัญญาของทุกฝ่ายในชุมชน ปกป้องดูแลและสร้างชุมชนร่วมกัน


'ที่ไหนก็เล่นได้' แก้เด็กติดจอ thaihealth


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากสถานการณ์ติดจอที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน พบว่าเพิ่มมากกว่าในกลุ่มช่วงอายุอื่น ซึ่งการที่เด็กติดจอนั้นทำให้เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และเมื่อประกอบกับอาหารหวาน มัน เครื่องดื่มหวาน มีการทุ่มโฆษณาทำให้เด็กเข้าถึงมากขึ้น ยังเป็นส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วนขึ้น โดยเด็กในยุคนี้อยู่ในยุคสื่อหลอมรวม ทำให้เด็กเข้าถึงสื่อต่างๆ จึงจำเป็นต้องสร้างกิจกรรมเพื่อดึงเด็กออกมาจากหน้าจอ โดย สสส. จัดโครงการ “ออกมาเล่น” (Active Play) ที่ส่งเสริมให้เด็กได้เคลื่อนไหววันละ 60 นาที ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่สามารถแบ่งเป็น เช้า 10 นาที กลางวัน 20 นาที เย็น 30 นาที ซึ่งจะรวมเป็น 60 นาที ตาที่ WHO แนะนำการเคลื่อนไหวก็จะช่วยเรื่องการพัฒนาการ ทำให้เด็กสมองปลอดโปร่ง แจ่มใส และกระฉับกระเฉง


'ที่ไหนก็เล่นได้' แก้เด็กติดจอ thaihealth


สื่อที่เข้าถึงได้ง่ายในยุคปัจจุบัน โดยเด็กบางคนสามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่อายุน้อยมากซึ่งเป็นวัยที่วิจารญาณต่ำ จึงจำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ พ่อแม่ คอยกำกับดูแลชี้แนะ เพื่อป้องกันการชักจูงไปในทางที่ไม่ดี และสร้างปัญญาด้วยการพาไปทำกิจกรรมต่างๆ เรียนรู้สังคมจริงๆ ด้วยการเข้าสังคม เช่น การออกกำลังกาย ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น บ่มเพาะกระบวนการทางความคิด ส่งเสริมให้เข้าถึงสื่อสร้างสรรค์


เด็กและเยาวชน เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ การมีพื้นที่ที่สร้างประสบการณ์และโอกาสในการพัฒนารอบด้านตามวัย และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มภูมิคุ้มกันและพลังให้เด็กเยาวชนสามารถเผชิญกับสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สู่การพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งกลไกสำคัญหนึ่งที่ สสส. พยายามผลักดัน คือ “เมือง 3 ดี : สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี” เพื่อเปิดพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ให้เยาวชนได้มีพื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรม เรียนรู้ทักษะชีวิตและเท่าทันสื่อ และพัฒนาจิตสำนึกความเป็นพลเมือง มีการพัฒนาแกนนำสื่อสร้างสรรค์

Shares:
QR Code :
QR Code