ตีแผ่ชีวิตแรงงานข้ามชาติผ่านภาพถ่าย

เตรียมผลักดันพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน เป็นต้นแบบ

ตีแผ่ชีวิตแรงงานข้ามชาติผ่านภาพถ่าย

 

            สภาคริสต์ฯ เอ็นจีโอ.เชียงใหม่จับมือ สสส. เตรียมเสวนาแรงงานข้ามชาติเสนอผ่านภาพถ่าย ชี้อาจส่งผลให้สังคมปรับแนวคิดต่อแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพได้ง่ายเนื่องจากสะท้อนมุมมองชัด เตรียมผลักดันคริสตจักรพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน เป็นต้นแบบดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติอย่างสันติ

           

            โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม  สภาคริสตจักรในประเทศไทย (CCT) โครงการพันธะกิจคริสตจักรลุ่มน้ำโขง (MEPP) สภาคริสเตียนแห่งเอเซีย (CCA) จัดโครงการเสวนาแรงงานข้ามชาติผ่านนิทรรศการภาพถ่าย ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 23 เมษายน 2553 นี้ โดยวัตถุประสงค์การเสวนาต้องการมุ่งเน้นเพื่อเป็นเวทีสื่อสารสาธารณะในการนำเสนอความเคลื่อนไหว การขับเคลื่อน การติดตามและผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคล รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในมุมมองของคริสต์ชน เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ 

 

            นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมผลงานภาพถ่ายของ มิสเตอร์จอห์น ฮิวม์ ช่างภาพอิสระ  ซึ่งเป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศพม่า เพื่อต้องการสะท้อนให้ผู้เข้าชมได้รับรู้ถึงการทำงานและวิถีชีวิตในด้านต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติ และมีความเข้าใจ ต่อแรงงานข้ามชาติที่ได้อุทิศตนทำงานอย่างหนัก และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ยังต้องการสร้างความตระหนักให้ทุกคนในสังคมได้มีทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะ

 

            นายอดิศร เกิดมงคลผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลระบุว่าพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีปัญหาในเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมากอาทิ  สิทธิการเข้าถึงบริการ  สิทธิเรื่องแรงงาน การจ้างงาน  ความปลอดภัยและเสี่ยงต่อการจับกุมของเจ้าหน้าที่รวมถึงทัศนคติในภาพลบต่อแรงงานข้ามชาติอีกด้วย  ซึ่งการที่คริสตจักรเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเรื่องดังกล่าวเพราะเนื่องจากเป็นภารกิจทางศาสนาของคริสตจักรที่จะต้องดูแลเพื่อนกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วซึ่งแรงงานข้ามชาติก็ถือว่าเป็นบุคคลที่ด้อยโอกาสในด้านต่างๆ  และที่ผ่านมามีสมาชิกของคริสตจักรที่เป็นพี่น้องกลุ่มชนและแรงงานข้ามชาติอยู่แล้ว ซึ่งจากข้อมูลที่ได้พูดคุยกับคนทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในพื้นที่พบว่ามีคริสตจักรประมาณ 10 แห่งกระจายตัวอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่และในพื้นที่รอบนอกที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติและเป็นพื้นที่รวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย

 

            นายอดิศรกล่าวอีกว่าภายหลังจากการเสวนาในครั้งนี้ คริสตจักรในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน องค์กรพัฒนาเอกชน   แรงงานข้ามชาติและแรงงานอพยพย้ายถิ่นจะมีความเข้าใจในประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติในมุมมองต่างๆ มากยิ่งขึ้น เห็นและเข้าใจถึงความต้องการของแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้น  ตลอดจนการมองแรงงานข้ามชาติเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้นด้วย โดยการเสวนาในประเด็นแรงงานข้ามชาติผ่านภาพถ่ายนั้นจะทำให้เห็นภาพชีวิตจริงของแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  เห็นแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น ก่อให้เกิดการมีความรู้สึกร่วมซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่เข้าร่วมชมนิทรรศการอาจรู้สึกว่าเกิดความใกล้ชิดและเข้าใจแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้น

 

            ด้านนายณัฐพงษ์  มณีกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคมสภาคริสตจักรในประเทศไทยกล่าวว่าการสื่อสารผ่านภาพถ่ายถือว่าเป็นการอธิบายเนื้อหาและรายละเอียดของเหตุการณ์ได้ดีที่สุดและมีความน่าสนใจมากกว่าการสื่อสารด้วยวิธีอื่นๆ และถ้ายิ่งเป็นการสื่อสารผ่านฝีมือของช่างภาพมืออาชีพด้วยแล้วจะสารมารถสื่อออกมาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าจะเป็นการถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายเพื่อสะท้อนถึงมุมมองเรื่องแรงงานข้ามชาติให้สังคมได้รับรู้มากยิ่งขึ้นในสิ่งที่พี่น้องเหล่านั้นกำลังเป็นอยู่  โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ถือว่าเป็นพื้นที่มีปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติค่อนข้างรุนแรงแต่กลับไม่ค่อยถูกหยิบยกขึ้นมาพูด โดยเฉพาะปัญหาของพี่น้องชาวพม่าและไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ปัญหาในการทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เชียงใหม่ยังไม่มีการทำงานรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายที่ชัดเจน  ซึ่งภายหลังจากการเสวนาในครั้งนี้เสร็จสิ้นก็มีความคาดหวังว่าจะมีการพูดคุยกันระหว่างองค์กรที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่าในอนาคตจะมีการทำงานที่เชื่อมโยงกันอย่างไรเพื่อให้เกิดการประสานกันอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

            เหตุผลหนึ่งที่คนทำงานยังไม่มีการทำงานเป็นเครือข่ายเท่าที่ควรคือเกิดจากความกลัว ที่เกิดจากคนทำงานเองขาดความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย ทัศนคติในแง่ลบที่มีต่อพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งโบสถ์ในพื้นที่เชียงใหม่ถือเป็นชุมชนที่มีโอกาสให้ความรู้และเป็นสถานที่รวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติได้ดี  ซึ่งในอนาคตมีความมุ่งหวังให้มีคริสตจักรที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการเพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมาย สุขภาพ สวัสดิการรวมถึง เรื่องสิทธิต่างๆ ด้วย โดยจะต้องนำคริสตจักรที่ทำงานด้านนี้มาร่วมพูดคุยกันเพื่อที่จะเกิดการทำงานร่วมกันแต่ในรูปแบบไหนนั้นจะต้องผ่านการพุดคุยกันอีกครั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคมสภาคริสตจักรในประเทศไทย กล่าว

 

            สำหรับสิ่งที่ผู้จัดการเสวนาแรงงานข้ามชาติผ่านงานนิทรรศการภาพถ่ายคาดหวังคือมีความต้องการให้สังคมมีความเข้าใจในสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติและการอพยพย้ายถิ่นมากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติ แรงงานอพยพย้ายถิ่นและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลจะได้รับความช่วยเหลือและรับบริการต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะสะท้อนให้แก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้กำหนดนโยบาย วิธีการที่เหมาะสมและยั่งยืนในการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติต่อไป  โดยปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ในการทำให้ภาพของแรงงานข้ามชาติดูน่ากลัวและอันตรายสำหรับสังคมไทย เสนอภาพ ที่เจือไปด้วยอคติและข้อมูลที่บิดเบือนต่อแรงงานข้ามชาติ และชี้นำคนในสังคมให้มีอคติและหวาดกลัวแรงงานข้ามชาติอย่างรุนแรงจึงซึมซับแต่ภาพที่เต็มไปด้วยการรังเกียจ แบ่งแยก กีดกัน และเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่รู้ตัว  โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายสะท้อนวิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจำนวน 60 รูป ซึ่งจะจัดแสดงจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2553 ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00น.โดยเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่สามารถเข้าชมนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ด้วย

 

รายงานโดยปรเมศร์  บำรุงหนูไหม

โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

Update 21-04-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : วีระ วานิชเจริญธรรม

Shares:
QR Code :
QR Code