ชราอย่างมีคุณภาพ-กายใจแข็งแรง
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
แฟ้มภาพ
บ่ายคล้อยของทุก ๆ วันเสาร์ที่ศาลาอเนกประสงค์ชุมชนเทพารุ่งเรือง หมู่ 4 ต.ท้อแท้ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก จะคึกคักเต็มไปด้วยผู้คน เมื่อผู้สูงอายุกว่า 40 คน ทยอยเดินทางมาที่จุดนัดหมาย เพื่อร่วมกันออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสาย เริ่มจากรำไม้พลอง ต่อด้วยรำวงย้อนยุค
อุทร คงจันทร์ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนเทพารุ่งเรือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า สมาชิกโครงการ 83 คน ถือเป็น 40% ของผู้สูงอายุในหมู่บ้านเหล่าขวัญ หมู่ 4 ทั้งหมด ที่มี 208 คน และเนื่องจากเป็นผู้สูงวัย จึงมักจะได้รับผล กระทบจากอาการปวดแขน ขา หรือเข่า เมื่อหารือกันถึงการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วัน จึงเลือกรำไม้พลองเป็นอันดับแรก เพราะช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี
การรำไม้พลอง ถือเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ ใช้เวลาไม่มากนัก ตอนแรกเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท้อแท้นำแบบท่ารำมาให้ และคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยฝึกแกนนำ กระทั่งรำเป็น ถ่ายทอดให้สมาชิกได้ จึงใช้เป็นกิจกรรมหลักในการออกกำลังกายมาตลอด
"เมื่อรำไม้พลองจบแล้ว ก็ต่อด้วยรำวงย้อนยุค ที่เคยรำมาตั้งแต่สมัยอายุ 30-40 ปี มาถึงตอนนี้ได้ประยุกต์ท่ารำสอนคนอื่น ให้รำตามเสียงเพลงที่เปิดผ่านเครื่องขยายเสียง ปรากฏว่าช่วง 3 เดือนแรกสมาชิกโครงการเข้ามาร่วมกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์ เวลาประมาณ 14.00-14.45 น. ที่เป็นเวลาสะดวกของทุกคน เนื่องจากตอนเย็นส่วนใหญ่ต้องดูแลหลาน หรือทำอาหารเย็นเตรียมไว้ให้คนในครอบครัว หากในระยะหลังสภาพอากาศที่แปรปรวน ร้อนจัด บางวันมีฝนตก ผู้ร่วมกิจกรรมจึงห่างหายไปบ้าง แต่ส่วนหนึ่งที่มาอย่างสม่ำเสมอ ก็ยังตั้งตารอคอยอย่างจดจ่อ"
นอกเหนือจากกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพทางกายแล้ว ยังมีการเสริมสร้างสุขภาพจิต ด้วยการเชิญชวนสมาชิกเข้าวัดทำบุญ ตักบาตร สวดมนต์ ฟังธรรม ในวันขึ้น 15 ค่ำ ของทุกเดือน ซึ่งถือเป็นวันพระใหญ่ และจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้ามาตั้งโต๊ะตรวจวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว พร้อมกับให้คำแนะนำด้านสุขภาพ และอาหารการกินที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
ขณะเดียวกันแกนนำยังได้ร่วมกับ อสม. และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท้อแท้ เข้าไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน และติดเตียงในชุมชนในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน คอยให้กำลังใจเดือนละครั้ง ซึ่งครั้งแรกผู้ป่วยทั้ง 3 ราย แทบไม่พูดคุยกับใคร กันตัวเองออกจากสังคม แต่ภายหลังกลับลุกขึ้นมาคุยกับผู้ไปเยี่ยมเยือน สุขภาพก็ดีขึ้น มีความพยายามในการเดินเกาะราว ร่างกายฟื้นฟู กลับมาช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ไม่ถึงกับติดเตียง
อัญชลี สนศิริ เลขานุการโครงการ บอกว่า ผู้สูงวัย คือกลุ่มบุคคลที่จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย และถือเป็นกลุ่มที่มีภูมิปัญญา องค์ความรู้ และศักยภาพที่จะทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ แต่มักจะได้รับการมองข้าม หรือถูกละเลยจากคนในครอบครัว และชุมชน ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะเป็นภาระของลูกหลาน บางรายกลายเป็นโรคซึมเศร้า ขาดเพื่อน ขาดสังคม การดึงออกมาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ จึงไม่ใช่แค่การเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงเท่านั้น หากยังเป็นการสร้างสังคมที่มีความสุขให้พวกเขาอีกทางหนึ่ง
และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับภาวะสุขภาพ ตลอดจนพฤติกรรมด้านสุขภาพ เช่น ปวดแข้งปวดขา ควรออกกำลังกายท่าไหน อย่างไร หรือควรกินอาหารประเภทไหน หลีกเลี่ยงอะไร จึงมีการประชุมสมาชิกทุก 3 เดือน จนเกิดข้อตกลงร่วมของสมาชิกชมรมผู้สูงอายุเทพารุ่งเรือง ในการดูแลสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพจิต
ที่สำคัญคือเกิดแกนนำชมรมผู้สูงอายุ 12 คน ที่เข้าใจเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งยังออกแบบกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม การพบปะกันของผู้สูงอายุแต่ละครั้งจึงมีความหมาย ได้พูดคุยกัน บอกเล่าทุกข์สุข ปัญหาทางกาย ใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราว ทำให้มองเห็นว่าคนอื่นก็มีปัญหา ซ้ำบางครั้งยังมองเห็นวิธีแก้ไขอย่างง่าย ๆ จากเพื่อนแบบคาดไม่ถึงอีกด้วย