งด เร็ว เซฟบุคลากรทางการแพทย์
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
การเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก นอกจากเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 แล้วยิ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการ เกิดอุบัติเหตุทางถนนในต่างจังหวัดได้อีกด้วย
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กรณีประชาชนแห่เดินทางกลับต่างจังหวัดหลังกรุงเทพ มหานคร(กทม.) และจังหวัดปริมณฑลออกประกาศปิดสถานที่เสี่ยงช่วงวันที่ 21-22 มี.ค.ที่ผ่านมา ผ่านสถานี ขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ 3 แห่งของ บริษัทขนส่งจำกัด หรือ บขส. ได้แก่ หมอชิต 2, เอกมัย และสายใต้เพิ่มขึ้นหลายหมื่นคน
เบื้องต้นมีการรายงานว่าเพิ่มขึ้นราว 10,000 คน จากปกติอยู่ที่ 60,000-70,000 คนต่อวัน ซึ่งการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก นอกจากเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 แล้วยิ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการ เกิดอุบัติเหตุทางถนนในต่างจังหวัดเพราะมีการใช้รถจักรยานยนต์ (จยย.) เพิ่มมากขี้นและอาจขับรถเร็วเพราะถนนโล่ง จะส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า นอกจากการเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาที่เป็นปัจจัยให้เกิดการใช้รถมากขึ้นแล้ว สิ่งที่น่ากังวลถัดมาคือความเสี่ยงบนท้องถนนที่เกิดขึ้นกับบรรดารถ จยย.อาหารดิลิเวอรี่ หลายคนพยายามทำรอบการส่งให้ได้มากที่สุด จึงต้องขับรถเร็ว ละสายตาบ่อยเพื่อมองโทรศัพท์ บางคนร่างกายอ่อนล้าเพราะพักผ่อนน้อย เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า ช่วงนี้หลายจังหวัดมีมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่ยังมีผู้คนจำนวนมากสังสรรค์อยู่ที่บ้าน หากขับรถออกมาในที่ชุมชน อาจเป็นอันตรายต่อเพื่อนร่วมทางคนอื่น ๆ ข้อมูลจากกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดือน มี.ค. 63 พบผู้ขับขี่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเกิดอุบัติเหตุถึง 19% จึงขอความร่วมมือประชาชนคนไทย ไม่เพิ่มภาระให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและแพทย์พยาบาล