คุมเข้มโรคติดต่อในกลุ่มเด็กปฐมวัย
ที่มา : ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอนุบาล ในห้องเรียนมีเด็กอยู่กัน 20 – 30 คน แต่ละคนอาจมีเชื้อไวรัสไข้หวัดคนละชนิด รวม ๆ กันแล้วในห้องนั้นอาจมีเชื้อไวรัสที่ไม่ซ้ำกันถึง 10 – 20 ชนิด เด็กในห้องนั้นก็จะหมุนเวียนกันติดเชื้อไวรัสที่ไม่ซ้ำกันจนครบ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อผลักดันนโยบายการบูรณาการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อในกลุ่มเด็กปฐมวัย (อายุต่ำกว่า 6 ปี) ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในเด็กแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ มีเป้าหมายให้เด็กปลอดโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมาะสมตามวัย เป็นพลเมืองที่สุขภาพดีมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และเด็กทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ
ทั้งนี้ เด็กถือเป็นกลุ่มวัยที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนประชากรเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ประมาณ 4 ล้านคน จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยาปี 2561 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในเด็กปฐมวัย ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ได้แก่ 1.โรคมือ เท้า ปาก พบผู้ป่วย 60,422 ราย และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 3 ราย 2.ไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วย 44,029 ราย และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 2 ราย และพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 267,934 ราย และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยปีละ 3 ราย