“ครูสอนดี” ชวน “ครูเรฟ เอสควิท” กระเทาะห้องเรียนนอกแบบ
เผยเคล็บลับ “สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง” เทียบหลักคุณธรรม 6 ขั้น ยกกฎครูดีข้อแรกต้องทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ทำตนเป็นตัวอย่างให้นักเรียน ชี้ผลการสอนที่แท้จริงคือเด็กนำไปใช้ได้ในอนาคต
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเสวนา “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ” และเปิดตัวหนังสือ “ครูนอกกรอบ กับ ห้องเรียนนอกแบบ: สรรพวิธีและสารพัดลูกบ้าในห้อง 56″ (teach like your hairs’ on fire: the mehods and madness inside room 56) ซึ่งเขียนโดยครูเรฟ เอสควิท (rafe esquith) ครูสอนดีนอกระบบ ชาวอเมริกัน ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติติ์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวเปิดงานว่า หนังสือภายในจะเป็นรายละเอียดที่สะท้อนถึง “การสอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง” ของครูเรฟที่ทำมากว่า 30 ปี ผ่านหัวใจสำคัญในการเรียนได้ต้องเริ่มจากความไว้วางใจ ให้เด็กทำดีด้วยเหตุผลที่ดี ภายใต้หลักคุณธรรม 6 ขั้นสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนผ่านบทเรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ การไปทัศนศึกษา การติวโจทย์คณิตศาสตร์ ฝึกให้เด็กแก้ปัญหา และเชื่อมั่นว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่คน 2 กลุ่ม 1.ครูที่ได้แลกเปลี่ยนกับครูเรฟ และ2.ผู้ปกครอง
ด้านครูเรฟ เอสควิท กล่าวว่า โรงเรียนที่สอนอยู่ ไม่ง่ายที่จะสอน เด็กส่วนใหญ่ไม่มีพ่อแม่อยู่ที่บ้าน ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก มีเด็กมากกว่า 30% ที่เรียนไม่จบมัธยมศึกษา ส่วนใหญ่เรียนจบแล้วไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย
สิ่งที่อยากจะนำเสนอวันนี้คือ กฎข้อแรกของการเป็นครูคือ ต้องทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัย เพราะครั้งแรกที่เด็กไปโรงเรียน เขาจะไปด้วยความหวาดกลัว ทั้งกลัวครูและกลัวกันเอง นอกจากนี้ ครูต้องเป็นแบบอย่าง เป็นคนที่เราต้องการให้เด็กเป็น หากต้องการให้เด็กเป็นคนดีและน่ารัก ครูจึงต้องเป็นอย่างนั้นตลอดเวลา หากเราตะโกนใส่เด็กตลอดเวลา ไม่ได้ผล เพราะเด็กเฝ้าดูเราอยู่
“เวลาสอนเด็ก จะใช้หลักคุณธรรม 6 ขั้น เช่น ในระดับต้นๆ ที่คนเราจะทำอะไรก็คิดอยากจะได้รางวัล หรือไม่ทำเพราะกลัวถูกลงโทษ ผมจะไม่ทำให้เด็กกลัว หรืออาย แต่ผมจะท้าทายให้เขาดูตัวเอง แล้วถามว่าทำไมจึงทำพฤติกรรมอย่างนั้น จะบอกเขาว่าไม่ต้องมาทำให้ผมพอใจ และเวลาคุณทำอะไรที่ไม่ดี ไม่ใช่ผมไม่ดี แต่เป็นคุณที่ดูไม่ดี ผมจะสอนให้เด็กๆ ไปไกลกว่าการต้องทำเพราะเป็นกฎเกณฑ์ แต่ทำเพราะไม่ต้องการรบกวนคนอื่น” ครูเรฟ กล่าว
ครูเรฟกล่าวว่า นักเรียนจะมี 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เป็นของขวัญจากพระเจ้า ฉลาด เรียนเก่ง ชอบโรงเรียน 2.เด็กตกสำรวจ และ 3.เกลียดโรงเรียน พ่อเป็นหัวหน้าแก๊ง และขู่ครูว่าถ้าให้การบ้านจะฆ่าครู ครูส่วนใหญ่มักใช้เวลากับเด็กกลุ่มที่ 1 เพราะสอนง่าย และกลุ่มที่ 3 เพราะทำให้ชีวิตครูรันทด
แต่ตนใช้เวลากับกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มปานกลาง ไม่มีใครสังเกตพวกเขา แต่ตนสังเกตพวกเขา จึงบอกเขาว่า มีใครเคยบอกว่าเก่งหรือไม่ แต่หนูเก่งนะ เด็กจะรู้สึกดีมาก และจะเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหมือนกลุ่มที่หนึ่ง และจะส่งผลให้กลุ่มที่สามไม่มีใครคุยด้วย จนได้คิดว่าควรไปร่วมกับเพื่อนๆตามลำดับ
“ต้องการแบ่งปันกับคุณ ทุกคนต้องเตรียมเด็กของคุณ ทุกคนมีความกดดัน ยากมากที่จะต่อสู้กับระบบที่เต็มไปด้วยปัญหามากมาย อยากให้ทุกคนทราบว่า ผลของการสอน ไม่ใช่ผลทดสอบปลายปี แต่เป็นผลที่เด็กจะนำไปใช้ได้ในอนาคต นั่นคือผลที่แท้จริง”
“เราอาจจะเหนื่อยหน่าย แต่เราต้องเตรียมพร้อมตื่นมาพบกับปัญหา เราบอกนักเรียนว่าอย่าท้อแท้ เราก็ท้อแท้ไม่ได้” ครูเรฟกล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวถึงแนวคิดจากหนังสือว่า หนังสือจะมีเรื่องราวที่ลึกซึ้งให้เราได้ตีความ และสนุกกับความล้มเหลว ทำให้เห็นว่า บัดนี้ โลกหมุนกลับ คือ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ครูเรฟหาวิธี แต่ตอนนี้ วงการการศึกษาทั่วโลกต้องการใช้วิธีนอกแบบเพื่อถอดถอดความรู้วิชาที่นำไปสู่ความเป็นมนุษย์ และเชื่อว่า อีก 10 ปีต่อไปนี้ ใครยังอยู่ในกรอบจะถือว่า ตกยุค
“หากคุณภาพการศึกษาเรายังเป็นอย่างนี้อีกหนึ่งรุ่นคืออีก 20-25 ปี คนของเราจะตื้นไปหมด ฉะนั้นอยากให้เห็นว่า ชีวิตครูมีคุณค่าอย่างยิ่ง เรามีความหมายต่อคนรุ่นต่อไป ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ แต่เป็นเรื่องของสังคมทั้งสังคม เพราะสังคมต้องการการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนเดิมที่สร้างคนไปทำงานในระบบอุตสาหกรรม แต่เราต้องสร้างคนในมีทักษะในการอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงมาก” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวมุมมองจากหนังสือว่า ชอบที่สุดที่ครูเรฟไม่ได้ปลื้มกับรางวัล แต่ได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ไปอ่านตามที่อ้างอิงไว้เรื่องหลักศีลธรรม 6 ขั้น โดยขั้นสุดท้าย ตอบโจทย์ว่า ไม่ได้ทำเพื่ออะไร แต่เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำ และเชื่อว่า เรฟจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ว่าที่ครูสอนดีรุ่นแรกได้มีพลังในการกลับไปสร้างสรรค์ชั้นเรียนให้ตอบโจทย์การเรียนรู้อย่างที่ลูกศิษย์ต้องการได้อย่างแท้จริง
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน