ขบวนการคนตัวเล็กวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัว
เครือข่ายหนุนการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวมากขึ้น
จากเวที”ขบวนการคนตัวเล็ก กับก้าวต่อไปของ วิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว”ซึ่งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้น ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานในงานนั้น กล่าวว่า รัฐบาลสนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น และผลักดันให้เกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว และเป็นผลที่ทำให้เกิดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ คลื่น เอฟ.เอ็ม. 105 เพื่อผลิตรายการวิทยุส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวมากขึ้น เป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย และก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว จนเกิดเครือข่ายสมาชิก“ขบวนการคนตัวเล็ก”เพื่อต่อยอดทำความดีให้สังคม
“รายการวิทยุเด็กควรแทรกอยู่ในรายการวิทยุทั่วไปไม่ควรจำกัดเพียงรายการเฉพาะเด็กเท่านั้นในขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันให้เด็กเป็นตัวขับเคลื่อนให้มีโอกาสร่วมทำงานในสื่อวิทยุด้วยเพราะผมเห็นด้วย กับการใช้สื่อวิทยุในการสร้างจินตนาการให้เด็กว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง แต่ยอมรับการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในวิทยุโทรทัศน์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคนสนใจอยากจะผลิตสื่อดีๆ ให้เด็กและเยาวชน แต่เนื่องจากสร้างรายได้ยากฉะนั้นการที่ สสส.ช่วยกระตุ้นให้เกิดรายการสถานีวิทยุมีรายการครอบครัวเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีต่อเด็กและเยาวชนไทยทั้งประเทศ หวังว่าคลื่นวิทยุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้นต่อไป” นายองอาจกล่าว
พ.ญ.ชนิกา ตู้จินดา ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลสำคัญต่อเด็ก เยาวชน และคนในสังคม ที่ผ่านมาเคยนำเสนอเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง อยากฆ่าตัวตาย ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบของเยาวชนมาแล้ว ขณะที่สื่อที่มีเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในรายการโทรทัศน์ กลับมีเพียง 5% และรายการวิทยุมีเพียง 1% เท่านั้น ทั้งที่เด็กและเยาวชนมีมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ
กาย ใจ อารมณ์ สังคม ปัญญา เป็น 5 ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเด็ก ซึ่งสื่อวิทยุสามารถตอบสนองพัฒนาการทั้ง 5 อย่างได้เต็มที่ เพราะการฟังต้องคิดและสร้างจินตนาการตามทำให้เด็กเกิดพัฒนาได้เร็ว การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ผ่านสื่อให้กับเด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง เพราะเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การใช้ความคิด สร้างสรรค์
“จากการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กที่ฟังดนตรีตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 6 ปี จะฉลาดกว่าเด็กทั่วไปเพราะดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาเชาวน์ปัญญาในเด็กเล็ก โดยเฉพาะการฟังดนตรีคลาสสิคหรือดนตรีที่มีจังหวะช้าๆ ฟังสบาย แต่ถ้าเด็กฟังรายการหรือดนตรีที่ไม่สร้างสรรค์โดยเฉพาะเด็กเล็ก เมื่อโตขึ้นจะสายเกินไปในการรับรู้เรื่องของความดีกับสิ่งที่ไม่ดีของดนตรี ซึ่งรายการวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัวถือเป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายของเด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง” พ.ญ.ชนิกา กล่าว
นางสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ดำเนินรายการพ่อแม่มือใหม่หัวใจเกินร้อย เอฟ.เอ็ม. 105 เมกะเฮิร์ตซ์กล่าวว่า จากการดำเนินการผลิตรายการวิทยุเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนผ่านคลื่นวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว เอฟเอ็ม 105 พบว่า มีเด็กและครอบครัวจำนวนมากได้เกิดการเรียนรู้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว
“ดังนั้น เพื่อให้เด็กและครอบครัวทั่วประเทศได้มีพื้นที่เรียนรู้ผ่านสื่อ วิทยุ และเกิดพัฒนาการที่ดี จึงขอให้รัฐบาลคืนพื้นที่ดีในการสร้างการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัว ผ่านรายการวิทยุในสถานีวิทยุของรัฐทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่น้อยกว่าวันละ 3 ชั่วโมง รวมถึงการจัดอบรมพัฒนาผู้จัดรายการวิทยุทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีความต้องการทำรายการสร้างการเรียนรู้เพื่อเด็ก และครอบครัวในจังหวัดต่างๆ โดยประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง”นางสรวงมณฑ์กล่าว
นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัวสสส. กล่าวว่า สื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ปัจจุบันยังมีสัดส่วนน้อยมาก แม้ว่าเมื่อปี 2546 จะเคยมีมติครม.ให้สถานีโทรทัศน์ต้องมีสัดส่วนของรายการเด็กในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ วันละประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ก็พบว่าไม่สามารถทำได้จริง และจากการสำรวจพบว่า ช่วงเวลาสำหรับเด็กและเยาวชนมีไม่ถึง 1%
นายวันชัย กล่าวต่อว่า เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เห็นความสำคัญ การผลักดันวาระสื่อสร้างสรรค์ และจัดสรรคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยใหม่ จึงเกิดเป็นคลื่น 105 เอฟเอ็ม โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้สนับสนุน ทำให้เป็นสื่อวิทยุเพื่อสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับเนื้อหาที่อยู่ในรายการวิทยุ สถานี 105 เอฟเอ็ม จะมีการจัดแบ่งช่วงตามเวลาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ช่วงเวลา 06.00-08.00 น. และ15.00-18.00 น. จะเป็นช่วงเวลาสำหรับเด็กระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการเล่านิทาน เพลงประกอบนิทาน ช่วงเวลา 20.00-24.00 น. จะเป็นช่วงเวลาสำหรับครอบครัว มีการถามตอบปัญหาทุกประเภทที่เกิดขึ้นในครอบครัว เช่น การติดเกม สัมพันธภาพระหว่างสามี ภรรยาการหย่าร้าง เป็นต้น
ส่วนในวันหยุดจะมีเนื้อหาสำหรับทุกกลุ่มอายุ เช่น ในช่วงเช้าเป็นรายการสำหรับผู้สูงอายุ ช่วงบ่ายเป็นเนื้อหาสำหรับทุกคนในครอบครัว ซึ่งการจัดรายการวิทยุ เนื้อหาเพื่อทุกคนในครอบครัวทำให้เกิดการมีส่วนร่วมเป็นตัวกลางประสานให้เกิดการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน
ปัจจุบันรายการวิทยุกระจายเสียงในเขตกทม.และปริมณฑล แต่มีการเชื่อมสัญญาณกับสถานีวิทยุชุมชน โดยอาศัยช่องทางอินเตอร์เน็ตไปใน 30 จังหวัด และมีการอบรมนักจัดรายการวิทยุในภูมิภาคต่างๆ อีก 3-4 จังหวัด
จากการเปิดรายการวิทยุสถานี 105 เอฟเอ็ม ในโรงเรียน และรถโรงเรียนเพื่อให้เด็กฟังในช่วงเช้า พบว่า การใช้สื่อเพื่อเด็กและเยาวชนโดยอาศัยช่องทางของสถานีวิทยุ จะเป็นเครื่องมือสร้างเสริมจินตนาการสำหรับเด็กได้ดีรองจากหนังสือ และเสริมสร้างจินตนาการมากกว่าโทรทัศน์ เพราะเป็นการรับฟังเรื่องราว ด้วยเสียง ทำให้เด็กได้ใช้สมองในการจินตนาการตาม
ทั้งนี้ จากการที่ประชาชนที่รับฟังรายการสะท้อนความคิดเห็นกลับมายังรายการยังพบว่า เมื่อครอบครัวฟังวิทยุเพื่อครอบครัวร่วมกันเด็กจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพ่อ แม่ ทำให้เด็กกลายเป็นคนกล้าแสดงออกมากขึ้นด้วย
“แม้ปัจจุบันจะมีสื่อจำนวนมาก แต่สื่อที่สร้างขึ้นเพื่อผู้ใหญ่ จะมีความแตกต่างกับสื่อเพื่อเด็ก หากให้เด็กรับฟัง ดู อ่าน แต่สื่อของผู้ใหญ่ ความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับข้อมูลที่ไม่เหมาะสมกับวัยจะมีมาก ซึ่งเด็กยังไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้เท่าผู้ใหญ่ การรับสารทำให้เกิดประสบการณ์ที่เลวร้ายมากกว่า จึงจำเป็นต้องมีสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ”
นอกจากเด็กจะมีความสุขที่มีรายการที่มีเนื้อหาสำหรับตัวเองแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นพัฒนาการที่สมวัย ซึ่งสื่อวิทยุถือเป็นสื่อร้อน ที่จะช่วยกระตุ้นเซลล์สมองเด็กได้เป็นอย่างดี
“เมื่อเปรียบเทียบกับโทรทัศน์ จะเป็นสื่อที่ทำให้เด็กสมาธิสั้น แต่วิทยุจะเป็นสื่อที่ทำให้เด็กสมาธิยาวขึ้น และนิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดสื่อสาธารณะเพื่อเด็กและเยาวชนมากกว่าปัจจุบัน เพราะจะอิสระในการสร้างรูปแบบราย การไม่ให้การตลาดมาครอบงำ” นายวันชัย กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update:30-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ