การป้องกัน “อหิวาตกโรค”

ที่มา : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


การป้องกัน


แฟ้มภาพ


อหิวาตกโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุเกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรค ปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารทะเล อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ รับประทาน หรือดื่มน้ำที่มีการใช้ภาชนะหรือมือไม่สะอาด


ผู้ที่ได้รับเชื้อจะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ถึง 5 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1-2 วัน มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว รวมถึงมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนได้ ถ้าอาการไม่รุนแรงมักหายภายใน 1-5 วัน แต่หากถ่ายเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีมูกหรือมูกเลือด จะทำให้เกิดภาวการณ์ขาดน้ำ ช็อก ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิตได้


ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย


  1. ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ / น้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส บ่อยครั้ง ให้จำนวนทดแทนกับที่เสียไป
  2. หากมีอาการมากขึ้น เช่น ถ่ายเหลวบ่อยครั้งมากขึ้น มีมูกเลือด อาเจียน ไข้สูง ชัก หรือซึม ควรรีบพาไปพบแพทย์
  3. งดอาหารที่มีรสจัดหรือเผ็ดร้อนหรือของหมักดอง


การป้องกันโรคอหิวาตกโรค


  1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง สุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่ปรุงไว้นาน ๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม
  2. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  3. ถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรี่ยราด
  4. ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง
  5. การรับวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรคเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันคือ ควรเน้นการปรับปรุงสุขาภิบาล มีสุขอนามัยที่ดี 

Shares:
QR Code :
QR Code