การกีฬาไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า สร้างสังคมไร้ควันเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและประกาศเจตนารมณ์ “การกีฬาไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”
ภาพโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“ในยุคที่โลกหมุนเร็ว… เทคโนโลยีทำให้เราสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น …แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ ‘ภัยเงียบ’ อย่าง บุหรี่ไฟฟ้าแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตของเยาวชนได้ง่ายและเร็วขึ้นเช่นกัน”
โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬาเยาวชน ที่ควรจะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ กลับตกเป็นเป้าหมายของกลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งจากโซเชียลมีเดีย คอนเทนต์บันเทิง ไปจนถึงคนใกล้ตัวที่ไม่รู้เท่าทันพิษภัย
ด้วยตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับองค์กรพันธมิตร มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กรุงเทพมหานคร สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดกรุงเทพมหานคร จึงร่วมประกาศเจตนารมณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อสนับสนุนการรณรงค์ “การกีฬาไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อ ปกป้องสุขภาพของนักกีฬา เยาวชน และคนไทยทั้งประเทศ
โดยเป้าหมายหลักการลงนามนี้ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมในสนามกีฬาและกิจกรรมต่าง ๆ ให้ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า ส่งเสริมให้นักกีฬาทุกระดับมีสุขภาพที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชน เพราะ “การกีฬา” ไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย แต่ คือ พื้นที่แห่งการเรียนรู้ สร้างวินัย สร้างจิตสำนึก และปลอดภัยจากสิ่งเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กีฬาไทยไร้ควัน – พลังใจไร้สารพิษ” หรือ “เล่นกีฬา… ไม่เล่นควัน” ทั้งนี้เนื่องจาก “กีฬา” คือ เครื่องมือสร้างคน สร้างทีม และสร้างชาติ แต่ “ควัน” คือสารพิษที่ทำลายระบบทางเดินหายใจ สมรรถภาพร่างกาย และความมีวินัย
การลงนาม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของนิโคตินและสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อสูบจะส่งผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต ลดประสิทธิภาพการหายใจ หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ทำลายถุงลมและปอด หลังฝึกซ้อมหรือการแข่งขันฟื้นตัวช้าลง เนื่องจากควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้แค่ทำลายสมรรถภาพทางกาย ความสามารถที่ฝึกฝนมาหลายปี แต่อาจเปลี่ยนจุดหมาย จาก “โอกาส” เป็น “ความเสี่ยง” ก็ได้ แม้เพียงแค่สูดควันลวงจากบุหรี่ไฟฟ้าเพียงไม่กี่ครั้ง ยังอาจทำลายภาพลักษณ์ และความศรัทธาในนักกีฬาไทยกลายเป็นแบบอย่างที่ผิดให้กับคนรุ่นใหม่ ก็ได้
อย่างไรก็ตามนักกีฬาในสายตาสังคมและเยาวชนแล้ว ไม่ใช่เพียงคนที่มีชื่อเสียง แต่ คือ “ไอดอล ผู้สร้างแรงบันดาลใจของชาติ” และหากมีนักกีฬาคนหนึ่งเลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้า อาจกลายเป็นแบบอย่างที่ผิดพลาดคนทั้งรุ่น ในทางกลับกันหากนักกีฬายืนหยัด “ไม่ใช้ ไม่สูบ” เราจะเห็นพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ปลอดจากบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสุขภาพทั้งตนเองและคนรุ่นต่อไป
มีนักกีฬาระดับโลกจำนวนมากยืนหยัดปฏิเสธบุหรี่และควันพิษอย่างชัดเจน เพราะพวกเขาตระหนักดีว่าร่างกายที่ไร้สารพิษ คือ เครื่องมือในการทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องดูแลมันให้ดีที่สุด อาทิ
Cristiano Ronaldo นักฟุตบอล – โปรตุเกส ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ “ผมไม่เคยแตะพวกนี้เลย เพราะผมต้องการเป็นนักฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก” ดังนั้นเราจะเห็นว่า ร่างกายของโรนัลโด ถูกดูแลเหมือน เครื่องจักรระดับสูง และการสูบบุหรี่ขัดกับชีวิตของเขาโดยสิ้นเชิง
Novak Djokovic นักเทนนิส – เซอร์เบีย เขาเป็นผู้นำด้านสุขภาพในวงการกีฬา ใช้ชีวิตแบบ clean & natural “ผมไม่สูบบุหรี่ และผมให้ความสำคัญกับการหายใจที่สะอาดเต็มปอด” เนื่องจากบุหรี่เป็นปัจจัยทำลายสมาธิ สมรรถภาพ และความยืดหยุ่นทางกาย พร้อมเผยแพร่แนวคิดการหายใจและการกินอาหารให้คนรุ่นใหม่
Manny Pacquiao นักมวย – ฟิลิปปินส์ ไม่สูบบุหรี่ เคยเป็นนักดื่มมาก่อน แต่เลิกทุกอย่างเพื่ออาชีพ และกลายเป็นต้นแบบที่ทรงพลังของคนฟิลิปปินส์ เคยออกมาเตือนเยาวชนเกี่ยวกับภัยของบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติดในฟิลิปปินส์ พิสูจน์ว่าอดีตไม่สำคัญเท่ากับ การเลือกทางที่ดีกว่าในวันนี้
อีกมุมหนึ่งในวันลงนาม วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ หรือ กัปตันกิ๊ฟ กล่าวไว้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยต่อสุขภาพนักกีฬามาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาที่สูบเอง หรือแม้แต่คนรอบข้าง ที่ได้รับพิษจากควันบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรง การกีฬาที่แท้จริง คือ การไม่พึ่งพาบุหรี่ไฟฟ้า “การกีฬาไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ไม่ใช่แค่คำขวัญ แต่เป็นคำมั่นสัญญาที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสร้าง เพื่อให้วงการกีฬากลายเป็นต้นแบบของสุขภาพ อย่างแท้จริง นักกีฬาที่แข็งแรงไม่ได้มาจากเพียงการฝึกซ้อมหนักเท่านั้น แต่ยังต้องมาจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ปราศจากสารพิษที่ทำลายร่างกายและสมรรถภาพ
สสส. องค์กรพันธมิตรและภาคีเครือข่าย สนับสนุนการรณรงค์ “การกีฬาไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อ ปกป้องสุขภาพของนักกีฬา เยาวชน และคนไทย ปล่อยพลังได้เต็มที่ด้วยการเล่นกีฬา… ไม่เล่นควัน สร้างเพื่อน สร้างเป้าหมาย สร้างสุขภาพ ดังเช่นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของโลก ซึ่งไม่เพียงแค่ฝึกหนัก แต่ยังเลือกชีวิตที่ไร้ควัน – ไร้สารพิษ – ไร้ข้ออ้าง มีสุขภาพที่ดีที่สุดและความสำเร็จอย่างยาวนาน