กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ 2009 รุนแรง!!
ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (H1N1) หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในระยะแรกองค์ความรู้ต่างๆ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าควรปฏิบัติอย่างไรดี ทำให้เกิดคำถามพอสมควร แต่ก็น่าชื่นชมว่าสังคมไทยมีการพัฒนาในการรับฟังข่าวสารอย่างรอบด้านว่าควรปฏิบัติอย่างไร ไม่เกิดความตื่นตระหนกจนเกินเหตุ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลเป็นระยะ
ขณะนี้มีความแน่ชัดในระดับหนึ่งว่า ไข้หวัดนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 อาการไม่รุนแรง แต่ส่วนน้อยที่รุนแรงนั้นหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงทางปอดถึงเสียชีวิตได้ และภาวะแทรกซ้อนนั้นสามารถป้องกันได้ด้วยการได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ (Oseltamivir) ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในขั้นรุนแรง ที่มักจะเกิดอาการในวันที่ 3 หหลังมีอาการไข้
กระทรวงสาธารณสุขได้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ออกเป็นหนังสือแจกจ่ายแก่โรงพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชน และแก่บุคลาการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง จึงขอใช้พื้นที่นี้ช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยทางหนึ่งโดยสรุปเนื้อหาที่สำคัญดังนี้ครับ (รายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ใน www.moph.go.th)
ผู้ป่วยที่มีอาการไข้เกิน
1. กลุ่มผู้มีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้มีอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(1) มีอาการทางปอด หอบเหนื่อย หายใจเร็ว เอกซเรย์ปอดมีลักษณะปอดอักเสบ
(2) อาการไม่ดีขึ้นหลัง 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มป่วย
(3) ซึมผิดปกติ กินอาหารได้น้อย มีลักษณะขาดน้ำ
การรักษาในกลุ่มนี้ต้องได้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลตรวจไวรัส
2. กลุ่มผู้มีอาการไม่รุนแรง หรืออาการดีขึ้นแล้ว ควรได้รับการตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคที่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาล ให้ยารักษาตามอาการ ต้องมาพบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้น ติดตามอาการใกล้ชิดอย่างน้อย 48 ชั่วโมงโดยเฉพาะถ้ามีไข้สูง พิจารณาให้ยาต้านไวรัสเมื่อ
(1) ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไขหวัดใหญ่ที่รุนแรง ได้แก่อายุน้อยกว่าเท่ากับ 2 ปี มากกว่าเท่ากับ 65 ปี หญิงตั้งครรภ์ มีโรคอ้วน มีโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย โรคลมชัก แม้อาการน้อยให้ยาต้านไวรัสโดยเร็ว
(2) ผู้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง ไม่ให้ยาต้านไวรัส ยกเว้นอาการรุนแรงเกิดขึ้น หรืออาการไม่ดีขึ้นหลัง 48 ชั่วโมง
หลักปฏิบัติตัวทั่วไปเมื่อมีอาการไข้หวัด หากไม่รุนแรงสามารถพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายดี ปิดปากและจมูกด้วยผ้าเมื่อไอหรือจาม สำหรับบุคคลทั่วไปควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด โดยไม่จำเป็น เท่านี้ก็จะทำให้ท่านปลอดภัยจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ครับ
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Update 09-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่