๑๐๐ ธรรมคำสอน สมเด็จพระสังฆราชา
๑๐๐ ธรรมคำสอน สมเด็จพระสังฆราชา
1.ที่เรียกว่าได้นั้น เป็นการเริ่มต้นของการเสียไป
2. ไหว้พระด้วยใจที่เคารพศรัทธาในพระรัตนตรัยสูงสุด ได้ผลดีแก่จิตใจ ยิ่งกว่ายกมือไหว้พร้อมกับอฐิษฐานปรารถนาสิ่งนั้นสิ่งนี้
3. การให้ธรรมที่แท้จริง หมายถึงการทำตนเองของทุกคนให้มีธรรม ไม่ต้องมีการแสดงออก เป็นการสั่งสอนด้วยวาจา
4. เมื่อเราทำความดีในวันหนึ่งๆ…อยู่ทุกวัน จะตายวันไหนก็ดีทั้งนั้น ประเสริฐทั้งนั้น
5. ทั้งสิ่งที่น่าหัวเราะ ทั้งสิ่งที่น่าร้องไห้นั้น เป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะทุกๆ อย่างนั้น ต้องเกิดต้องดับ
6. ไม่ควรสร้างความสุขให้ตนเอง ด้วยการก่อความทุกข์ให้แก่คนอื่น
7. ผู้ที่ละได้ทั้งแพ้และชนะจึงจะได้ความสงบสุข
8. ลมหายใจเข้าออกของทุกๆ คนนี้เป็นแหล่งบังเกิดขึ้นแห่งสมาธิและปัญญา
9. ภัยที่ พ่อ แม่ ญาติ ซึ่งเป็นที่รัก ลูก ก็ช่วยกันไม่ได้ ก็คือแก่เจ็บตาย
10. ส่วนความดีชั้นเอก ก็คือความดีที่ชนะความชั่วของตนเอง
11. บุคคลผู้ทรงปัญญาย่อมปฏิบัติกระทำจิตของตนให้ตรงได้ เหมือนอย่างนายช่างศรดัดลูกศร
12. อาการที่ตั้งสงบอยู่ในภายใน รู้อยู่ไม่ออกรับ ดั่งนี้คืออุเบกขา
13. อันรูปธรรมนามธรรมนั้นแสดงความไม่เที่ยงของตัวเองอยู่ทุกขณะ
14. การเพ่งดูผู้อื่นทำให้ตนเองไม่เป็นสุข แต่การเพ่งดูใจตนเองทำให้เป็นสุขได้
15. อะไรดี อะไรชั่ว รู้ทั้งนั้น เรียกว่า ใช้ความรู้นั้นช่วยตนเองไม่ได้ ก็เพราะขาดความเคารพในธรรมที่รู้
16. ผู้ทำความดี เหมือนผู้มีแสงสว่างอยู่กับตัว
17. เมื่อเป็นเหตุการณ์ที่จะต้องเกิด…ก็เกิดขึ้นจนได้
18. รักอยู่ที่ไหนชังก็อยู่ที่นั่น มีความใคร่อยู่ที่ไหนความโกรธก็มีอยู่ที่นั่น
19. ผลดีเกิดจากเหตุที่ดี ผลไม่ดีเกิดจากเหตุที่ไม่ดี
20. สติจึงมีหน้าที่สำคัญ คือเป็นผู้เสนอเรื่องแก่จิตเพื่อพิจารณา
21. ศีลก็เหมือนอย่างราก สมาธิก็เหมือนอย่างต้น ปัญญาก็เหมือนอย่างยอด เมื่อเทียบกับต้นไม้
22. จิตนี้ในขณะที่มีกิเลสกลุ้มกลัดอยู่นั้น เหมือนอย่างบ้านที่กำลังถูกโจรปล้น หรือว่าอย่างบ้านที่หลังคารั่ว ฝนตกรั่วรด ต้องเปียกมอมแมม
23. สำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราของเรานั้นหาได้มีไม่ มีสักแต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุอากาศ
24. ชีวิตนี้ย่อมมีความตายเป็นที่สุดเหมือนกันหมด
25. สัจจะธรรมนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ดำรงอยู่ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีที่สุด
26. การเรียนให้รู้ก็เพื่อปฏิบัติ ถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติก็ไม่บังเกิดเป็นผล ทั้งในทางคดีโลกและทั้งในทางคดีธรรม
27. จิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา
28. ศีลสมาธิปัญญาทั้ง ๓ นี้ กับทั้งวิมุติอันเป็น ส่วนผลจึงต้องอาศัยกัน เหมือนอย่างเป็นแผ่นดิน เป็นเท้า เป็นลำตัว เป็นศีรษะ
29. โลกคือหมู่สัตว์ ซึ่งวนเวียน เกิด-แก่-ตาย จุติคือเคลื่อนออกจากกายที่แตกสลาย อุปปัติคือเข้าถึงภพชาติใหม่ ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้
30. ในขณะที่ยังมีอาสวะเป็นตะกอนก้นตุ่มอยู่ ก็ต้องทำความดี เพื่อชำระอาสวะ ที่เป็นตะกอนก้นตุ่มนี้ให้สิ้นไปโดยลำดับ
31. ที่ยึดถือกันอยู่ว่าสวยงามน่ารักน่าชมสะอาด นั่นก็เป็นเพียงยึดในมายาของกาย
32. พิจารณาละมายาเสีย มองเข้าไปเห็นสัจจะคือความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงาม
33. ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาดและไม่งดงาม เพื่อป้องกันใจไม่ให้บังเกิดราคะคือความติดใจยินดี
34. ผิวพรรณที่อุตสาหะพยายามถนอมรักษาให้งดงาม มีลักษณะตรงกันข้ามกับความปรารถนาอย่างสิ้นเชิง เมื่อความตายมาถึง
35. ปัญญาในธรรมนั้นต้องอาศัยจิตที่บริสุทธิ์ โดยมี ศีลเป็นที่รองรับหรือเป็นพื้น ท่านจึงเปรียบศีล เหมือนอย่างแผ่นดิน
36. อะไรก็ไม่ใช่เป็นของของตนทั้งนั้น แต่ว่ากรรมที่กระทำไว้เป็นของของตน
37. ผิดศีลกันได้ต่าง ๆ เพราะกาม
38. สังขารคือปรุงแต่งนี้ก็เป็นอาการของชีวิต ซึ่งต้องมีการปรุงแต่งกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
หยุดปรุงแต่งเมื่อไหร่ก็ตาย
39. เมื่อไม่มองเห็นว่าเป็นทุกข์ก็ยังยึดถือทุกข์อยู่ ไม่ปล่อยทุกข์ เหมือนอย่างเมื่อกำก้อนถ่านไฟไว้ในมือ
40. มีธรรมะเป็นใหญ่ ไม่ใช่มีโลกเป็นใหญ่ ไม่ใช่มีตนเป็นใหญ่ แต่มีธรรมะเป็นใหญ่เป็นธรรมาธิปไตย
41. ไม่รักเสียจนไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก ซึ่งความรักเช่นนั้นไม่ใช่เป็นความรักที่เป็นเมตตา
42. เมื่อมีสติกับปัญญามาเป็นกระจกส่องดูจิตของตนเอง ก็ย่อมจะรู้จักจิตของตนเองว่าเป็นอย่างไร
43. กามเป็นสิ่งที่ให้คุณน้อยแต่ว่ามีโทษมาก
44. ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก ล้วนเป็นเครื่องเผาจิตใจทั้งนั้น
45. ถ้าไม่เพียรเผากิเลสเสีย กิเลสก็ย่อมบังเกิดขึ้นเผาจิตใจของบุคคลนั้นเอง
46. ความรู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายเป็นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่
47. เมื่อมีความผูกพันยินดีติดอยู่ ครั้นสิ่งที่ผูกพันนั้นแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีความทุกข์
48. สิ่งใดชำรุดสิ่งนั้นได้ชื่อว่าโลก สิ่งใดที่ดำรงอยู่สิ่งนั้นได้ชื่อว่าธรรม
49. ดับหรือหักใจในส่วนที่เป็นอดีต ในส่วนที่เป็นอนาคต และในส่วนที่เป็นปัจจุบันได้ ก็จะเป็นผู้ที่มีจิตใจสงบ
50. การปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้าทุกข้อทุกบท จึงเป็นการปฏิบัตินำออกไปจากเครื่องผูกพันอาลัยห่วงใย
51. การทำบุญแม้ทีละน้อยๆ ก็ย่อมทำให้บุญเต็มขึ้นมาได้ มากขึ้นมาได้
52. จิตที่เป็นปรกติ เหมือนอย่างน้ำในแม่น้ำที่ไม่มีลม ความที่เป็นปรกติดั่งนี้ คือ ศีล
53. แม้จะยึดถือไว้เพียงไรขันธ์ ๕ นี้ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไปตามธรรมดานั้นเอง
54. คนไขน้ำย่อมไขน้ำ ช่างศรย่อมถากลูกศร ช่างไม้ย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน
55. ผู้รู้พ้นคือไม่ยึด ก้อนถ่านไฟที่ติดไฟอยู่ท่านไม่ได้กำเอาไว้ ท่านจึงไม่ร้อน
56. ประกอบธุระการงานต่าง ๆ ไป แต่ว่าก็ต้องหาเวลามาที่จะชำระดวงตาคือปัญญาของตน
57. จิตที่มิได้อบรมแล้ว มิได้รักษาคุ้มครองแล้ว เป็นจิตที่ไม่ควรแก่การงาน
58. ความดีที่ทำไว้นั้นก็ยังเก็บอยู่ในจิตส่วนลึกเรียกว่าบารมี
59. ความเพียรที่มั่นคง แม้ทีละน้อย ที่เหมือนอย่างน้ำทีละหยาดๆ นั้น ก็ทำให้เต็มได้
60. ความโศกความกลัวเกิดจากตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก
61. ถ้ายังมีอาสวะอนุสัยอยู่ ก็ไม่ชื่อว่าไกลกิเลส เรียกว่ายืนทับกิเลส เดินทับกิเลส นั่งทับกิเลส นอนทับกิเลสอยู่
62. กิเลสเมื่อเกิดขึ้นก็เหมือนอย่างเป็นไฟที่เผาจิตใจ
63. ภาวนา แปลว่า การทำให้มีขึ้น ให้เป็นขึ้น
64. ทำชั่วเมื่อใด ก็เป็นคนชั่วขึ้นทันที คือภูมิชั้นภาวะของตนของจิตใจ ชั่วขึ้นทันที
65. ความริษยานี้มีโทษมาก เป็นเครื่องทำลายความดีความสุขของคนอื่น
66. ความเกิดเป็นธรรมดา จะปรารถนาไม่ให้เกิดก็ไม่ได้
67. ความแก่ความตายเป็นธรรมดา จะปรารถนาไม่ให้แก่ไม่ให้ตายก็ไม่ได้
68. เมื่อเมตตาตั้งขึ้นในจิตได้ก็จะดับพยาบาทได้ จะป้องกันไม่ให้พยาบาทบังเกิดขึ้นได้
69. อาสวะนั้นก็เปรียบด้วยตะกอนนอนก้นตุ่ม ที่ฟุ้งขึ้นมาก็ทำให้จิตที่เคยใสกลับกลายเป็นจิตขุ่น
70. ความเพียรควรเร่งรีบทำในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาต่อวันพรุ่งนี้
71. เฉยเสียได้ วางเสียได้ จากความยินดีความยินร้าย ดั่งนี้คืออุเบกขา
72. กิเลสนี้ไม่ชอบให้ดู ไม่ชอบให้รู้ ไม่ชอบให้เห็น ชอบแต่ที่จะแฝงตัวอยู่
73. กิเลสที่ถูกจิตเพ่งดูด้วยปัญญากับสติดั่งนี้ กิเลสย่อมจะอ่อนกำลังลง
74. ผู้เป็นบัณฑิตจึงถากไสตัวเองดัดตัวเอง ปฏิบัติที่จะละชั่วทำดีด้วยตัวเองอยู่ดั่งนี้
75. จิตดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายรักษายากห้ามยาก ในเมื่อขาดสติปัญญา
76. ถ้าใจล้มไปเพราะความโลภแล้ว ก็ย่อมจะประกอบการทุจริต คดโกงฉ้อฉล เป็นต้น
77. ประทุษร้ายตนเองนั้นก็คือว่าเลิกละกิจที่ควรจะทำเพราะความโกรธ ก็เป็นอันว่าใจล้มนั่นเอง
78. กายอันนี้ก่อนจะเกิดก็ไม่มี และในที่สุดก็กลับไม่มีอีกตามเดิม
79. ความอิ่มด้วยตัณหานั้นไม่มี หรือความอิ่มด้วยกามนั้นไม่มี เพราะว่าจิตใจนี้เองไม่มีอิ่ม
80. ทำชั่ว สรรเสริญว่าทำดี ก็ไม่ทำให้ผู้ที่ถูกสรรเสริญว่าดีนั้นดีขึ้นมาได้
81. ทำดีแต่ถูกนินทาว่าชั่ว ก็ไม่ทำให้ความดีกลับเป็นความชั่วได้ เมื่อทำดีก็คงเป็นทำดีอยู่นั่นเอง
82. มีสติพิจารณาถึงกาลเวลา เพื่อที่จะได้เกิดปัญญารู้จักว่า จะใช้กาลเวลาอย่างไร
83. ความดำรงชีวิตอยู่ของผู้มีศีล มีจิตเพ่งพินิจตั้งมั่นในกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นอยู่เพียงวันเดียวก็ประเสริฐ
84. ถ้ากามไม่มีคุณเสียเลยจิตก็จะไม่ติดในกาม เพราะกามมีคุณ ส่วนที่น่าพอใจอยู่ด้วยจึงทำให้ติด
85. โดยปรมัตถ์แล้วไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
86. กรรมนั้นเมื่อทำแล้วก็เหมือนดื่มยาพิษร้ายแรงเข้าไปแล้ว จะไม่เกิดผลแก่ชีวิตและร่างกายไม่มี
87. หายใจออกครั้งนี้แล้วอาจจะไม่หายใจเข้าอีก เมื่อถึงเวลาจะต้องตาย ไม่มีผู้ใดจะผัดเพี้ยนได้
88. บรรดาสิ่งที่ยึดถือไว้นั้น เมื่อปล่อยวางลงไปได้ทุกข์ต่างๆ ก็ดับไปหมด
89. กำอะไรไว้ ยึดอะไรไว้ ก็ปล่อย ก็ส่งคืนแก่เจ้าของเขาไป คืนแก่ธรรมชาติธรรมดา
90. ขันธ์อายตนะธาตุก็เป็นตัวสภาวะทุกข์ เหมือนอย่างเป็นก้อนถ่านไฟที่มีไฟติด
91. กรรมก็เป็นเหตุให้ประสบวิบากคือผลอีก และผลก็เป็นเหตุก่อกิเลสขึ้นอีก จึงเรียกว่าวัฏฏะ ที่แปลว่าวนเวียน
92. สันติของใจก็มีได้ มีได้ให้เห็นได้ ให้รู้ได้ ในเดี๋ยวนี้ ในวันนี้ ธรรมะจึงเป็น สันทิฏฐิโก
93. ถ้าหากว่ากามไม่ให้ความสุขความเพลิดเพลินเสียเลยแล้วคนก็จะไม่ติดในกามไม่ติดในโลก
94. เราผู้เจริญเมตตานั้นมีสุขก่อน
95. เราจะทำให้หายโกรธด้วยเมตตานี้ได้
96. วางได้ ก็คือ วางความวุ่นวายต่างๆ เฉยได้ ก็คือ สงบไม่ทุรนทุราย
97. จิตที่ประกอบด้วยความบันเทิงยินดี ต่อความสุขความเจริญของผู้อื่น เป็นเครื่องกำจัดความริษยา
98. ปลาที่จับขึ้นมาจากน้ำ ก็จะดิ้นลงไป เพื่อจะลงน้ำ ฉันใด จิตที่จับมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิก็ฉันนั้น ก็จะดิ้นลงไปสู่น้ำคือกามคุณารมณ์
99. ตนรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด สัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น
100. เวร คือ ความเป็นศัตรูกัน ของบุคคล ๒ คน หรือ ๒ ฝ่าย เพราะฝ่ายหนึ่งก่อกรรม อีกฝ่ายหนึ่ง ก็ผูกใจเจ็บคิดแก้แค้น
ที่มา : กลุ่มชูใจกะกัลยาณมิตร