ไอเดีย นศ. สร้างห้องสมุดดิน
"บ้าน วัด โรงเรียน" บอกเล่าสภาพสังคมไทยในชนบทได้อย่างดี ในอดีตนั้นสถาบันแห่งนี้เชื่อมโยงกัน ขณะที่ปัจจุบันหลายที่ขาดจากกันเพราะสังคมเมืองรุกล้ำ โครงการห้องสมุดสีน้ำตาล ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิทยาเขตจังหวัดลำปาง จึงไม่ใช่แค่กิจกรรมของนักศึกษาที่แค่ไปสร้างห้องสมุดให้ชาวบ้านเหมือนกับที่ผ่านๆ มา หากแต่ได้เริ่มสร้างโมเดล บ้าน วัดและโรงเรียนให้เกิดขึ้นด้วย ที่โรงเรียนวัดนางแล สำหรับความเป็นมาของโครงการดีๆ ที่มุ่ง ส่งเสริมให้ 3 สถาบันนี้กลมเกลียวและเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้นนั้น
“น้องดั้ม” สันติสุข ยะมะโน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง อธิบายให้ฟังว่า โครงการเริ่มจากการไปสำรวจชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย ชื่อชุมชนบ้านนางแล ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ซึ่งมีโรงเรียนวิสิฐวิทยา ที่มีสามเณรและฆราวาสเรียนอยู่ด้วยกัน จึงคิดทำห้องเรียนสีน้ำตาลขึ้นมา โดยทำมาจากดินและวัตถุดิบในท้องถิ่น อย่างเช่น ฟางและแกลบ ที่ปกติชาวบ้านจะทิ้ง มาทำให้เกิดประโยชน์ แล้วชวนเด็กๆ ในโรงเรียนมาทำงานร่วมกัน เป็นลักษณะบวร คือบ้าน วัด และโรงเรียน
สันติสุข ขยายความให้ฟังว่า ที่ผ่านมาการทำกิจกรรมของนักศึกษามักจะเน้นการออกค่ายในพื้นที่ชนบทห่างไกล หรือช่วยเหลือชาวเขา แต่เรากลับลืมชุมชนที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย จากจุดนี้จึงเริ่มสำรวจพื้นที่จนพบว่าโรงเรียนวัดนางแล ขาดอาคารห้องสมุด โดยใช้พื้นที่หอฉันของวัดมาทำเป็นห้องสมุด อีกทั้งโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานที่สามเณรมาเรียนวิชาสามัญร่วมกับนักเรียน ในเบื้องต้นของการสร้างห้องสมุดนั้น นักศึกษาได้ลงพื้นที่ทำประชาคมก่อนกับชาวบ้าน นำเสนอเรื่องการสร้างห้องสมุดจากดิน ซึ่งใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นอยู่แล้ว ส่วนภาคแรงงานนั้นก็ใช้คนภายในชุมชนเอง โดยใช้เวลา 3 เดือนห้องสมุดดินก็สามารถใช้งานได้ ทั้งนี้ข้อดีของห้องสมุดสีน้ำตาล หน้าร้อนอากาศเย็น หน้าหนาวอบอุ่น ยิ่งอยู่นานยิ่งดี ส่วนปัญหาเรื่องมอดนั้น การจัดวางชั้นหนังสือนั้นจะต้องห่างจากผนังดิน จะป้องกันมอดและความชื้นจากเชื้อราได้
สำหรับการทำบ้านดินเพื่อทำเป็นห้องสมุดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคนในชุมชนที่เป็นผู้ปกครองเด็กๆ ซึ่งได้นำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงในช่วงการก่อสร้าง และหลังจากนั้นทางทีมได้นำความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปถ่ายทอดให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง อย่างเช่นการปลูกผักไว้กินเอง ซึ่งแต่เดิมโรงเรียนต้องซื้อผักจากข้างนอกมาทำกับข้าวให้นักเรียนและสามเณร
"วัตถุดิบในชุมชนจะมีจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านเป็นชาวนา ซึ่งข้าวเมื่อตัดเสร็จจะเหลือฟาง แกลบ และประเพณีทางเหนือจะขนทรายเข้าวัด ทรายจะเยอะ ดินก็ได้จากท้องนา เห็นว่าโครงการนี้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงเอาของที่มีอยู่ในชุมชนเอาของที่มาใช้ตรงนี้แล้วเกิดประโยชน์สูงสุด จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา"
สันติสุข บอกว่า ก่อนที่จะลงพื้นที่ทำห้องสมุดสีน้ำตาลอย่างจริงจังและเพื่อนลงทุนไปเป็นเด็กวัด อาศัยข้าวก้นบาตรนานกว่า 2 สัปดาห์เพื่อจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชนและคุ้นเคยกับชาวบ้าน เพื่อชวนมาเป็นแนวร่วมสำคัญในการช่วยกันย่ำดินขนดินด้วยกัน ให้ออกมาเป็นห้องสมุดสีน้ำตาล ซึ่งโครงการนี้ได้ทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และธนาคารกรุงไทย นำเงินไปซื้อหนังสือและค่าใช้จ่ายระหว่างการดำเนินการ นอกจากหนังสือแล้วยังเน้นสื่ออาเซียนต่างๆ มาวางในห้องสมุด เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กที่นี่ก่อนที่จะเปิดประชาคมอาเซียน ในฐานะที่เป็นกลุ่มนักศึกษาที่เรียนด้านกฎหมาย น้องๆ ได้ต่อยอดโครงการด้วยการเป็นครูอาสานำความรู้ด้านกฎหมายใกล้ตัวมาอบรมให้ความรู้กับชาวบ้านที่สนใจ
"ดีใจมากไม่คิดว่าจะได้รางวัล แต่ก็ทำเต็มที่ ที่ได้รับรางวัลคงเป็นเพราะความเป็นทีมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หลังจากนี้พวกผมจะกลับไปทำตามสัญญากับพวกเด็กๆ นั่นคือ การทำโรงเพาะเห็ด ซึ่งคงทำเป็นบ้านดินเหมือนเดิม และคงจะทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น กิจกรรมรักการอ่าน กิจกรรมครูอาสา เพื่อความยั่งยืน ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนด้วย ไม่เช่นนั้นก็ไม่สำเร็จ" สันติสุข กล่าวและว่า ในการทำงานก็มีปัญหาอุปสรรค แต่พอเวลาทำงานเสร็จจะมานั่งคุยกันแล้วหาวิธีแก้ที่ดีที่สุด
ด้าน “น้องเจมส์” ณัฐกิตติ์ อัครปัญญาวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง หนึ่งในผู้ร่วมทำโครงการห้องสมุดสีน้ำตาล ย้ำถึงแนวคิดว่า ที่ผ่านมาเด็กค่ายสร้างมักมองไปพื้นที่ไกลๆ สิ่งที่ใกล้ๆ มักจะมองข้าม เราจึงมีความคิดพัฒนาพื้นที่ใกล้ๆ แล้วขยายไปยังพื้นที่ไกลๆ โดยให้มหาวิทยาลัยช่วยแก้ปัญหาสังคมได้"
ทั้งนี้ กิจกรรมห้องสมุดสีน้ำตาล สามารถคว้ารางวัล รองชนะเลิศอันดับที่ 2 กรุงไทยต้นกล้าสีขาว ประจำปี 2556 ในชื่อทีม Volunteer center จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับโล่และเงินรางวัลรวม 210,000 บาท พร้อมศึกษาดูงานต่างประเทศ
ส่วนนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ซึ่งโครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาว เป็นโครงการเสริมสร้างทุนทางปัญญา ที่ทางธนาคารกรุงไทย จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 นับเป็นหนึ่งในโครงการที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทุกสาขา ทุกชั้นปี ทุกสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมมากที่สุด และถือเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมในระยะยาว เพราะเป็นการสร้างทุนปัญญาให้กับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวความคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ภายใต้แนวความคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการจัดการที่ยั่งยืน สามารถบูรณาการความรู้ ประสบการณ์และทัศนคติที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงในการประกอบอาชีพ ตลอดจนได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง
“นอกจากนั้น ยังเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเพื่อนนิสิต นักศึกษาด้วยกัน อันเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และก่อให้เกิดความร่วมมือต่อไปในอนาคต อีกทั้งเป็นการเพิ่มความรู้ ความเข้าใจให้กับคณาจารย์ทั่วประเทศเกี่ยวกับการเรียนการสอนด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ประธานกรรมการ เผย
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง