ไอเดียกู้วิกฤต! แปลง “พื้นที่รกร้าง” เป็นนาข้าว
แม้สังคมไทยในปัจจุบัน ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความแตกแยกทางความคิด และยังมองไม่เห็นทางออกที่เป็นรูปธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือ ปัญหาสำคัญที่สุดที่เกี่ยวพันกับความอยู่รอดของปัจเจกชนและสังคมโดยตรงคือเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” ก็ยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และยังไม่มียุทธศาสตร์การแก้ปัญหาที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในระดับของท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของภาคการเกษตร ในหลายพื้นที่ มีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการร่วมกันหาทางออกให้กับการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยชาวบ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไม่ต้องรอ “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่” สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดมีการเสวนาในประเด็นนโยบายสาธารณะเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน
นายโกเมศร์ ทองบุญชู ตัวแทนเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า จากบทเรียนที่ผ่านมาเมื่อเกิดวิกฤตหรือภัยพิบัติหนักๆ หลายครั้งที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่คือเราไม่มีความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างรุนแรง หลายแห่งไม่มีอาหารประทังชีวิต ซึ่งจากหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจึงทำให้พวกเราเครือข่ายได้ถอดบทเรียนร่วมกันและช่วยกันหาทางออกจากวิกฤติเรื่องอาหารที่เกิดขึ้น เราได้จัดทำโครงการฟื้นฟูนาร้างในพื้นที่ป่าครุควนเคร็งเพื่อปลูกข้าวพันธ์พื้นเมืองเก็บไว้เป็นเสบียงเมื่อเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจากการพูดคุยของพวกเราได้ทำให้เกิดแนวร่วมในการปลูกข้าวในพื้นที่ป่ารกร้างใน 3 จังหวัดด้วยกันคือ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเรามีเครือข่ายในการปลูกข้าวเพื่อใช้เก็บไว้เป็นเสบียงหลายหมื่นไร่ และเราได้ผลผลิตที่แปรรูปออกมาเป็นข้าวสารแล้วหลายหมื่นตัน ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ก็ได้นำไปแจกจ่ายหลายจังหวัดเมื่อเกิดภัยพิบัติด้วย
นายธาดา อำพิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่า กล่าวว่า การเกษตรในพื้นที่เจอปัญหาในเรื่องการใช้สารเคมี เราต้องปิดห้องประชุมและตรวจสารพิษในตัวของชาวบ้านให้เขาเห็นว่าในเลือดของเขานั้นมีสารพิษที่เกิดขึ้นจากการทำการเกษตร เขาจึงเชื่อและมาหาทางออกร่วมกัน จึงทำให้เกิดหลากหลายโครงการที่เกี่ยวกับอาหารขึ้นในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ปัญหาภัยแล้ง เราจึงหาทางออกร่วมกันโดยการเปลี่ยนฤดูในการผลิตพืชผลทางการเกษตร และทำโครงการแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง ซึ่งหลังจากที่แก้ปัญหาเรื่องการเกษตรอย่างเป็นระบบแล้วก็ทำให้ไม่มีปัญหาอาหารขาดแคลนอีก โดยเมื่อครั้งที่เกิดน้ำท่วมใน 7 ตำบลของอุทัยธานี แต่ในอีก 50 ตำบลก็ยังมีข้าวไว้แจกจ่ายให้กับ 7 ตำบลที่เหลือด้วย
ขณะที่ รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ ตัวแทนจากสถาบันคลังสมองแห่งชาติกล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีหลากหลายสัญญาณเตือนภัยที่คุกคามในเรื่องอาหาร ไม่ว่าจะเป็นความไม่มีเสถียรภาพในเรื่องราคาอาหารในตลาด สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และการขยายตัวของความเสื่อมโทรมในสภาพแวดล้อม
นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการผลิตอาหารของหลากหลายพื้นที่ยังถดถอยลงไปด้วยเพราะที่ดินในการผลิตพืชผลทางการเกษตรเสื่อมโทรมลง สิ่งที่สำคัญคือการทำงานวิจัยในภาคการเกษตรมีน้อยมาก เราจึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถทำงานวิจัยในพื้นที่ของตนเองได้ เพราะงานวิจัยจะทำให้เขารู้ถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ตรงจุดได้
ด้าน น.ส.กิ่งกร นริทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าวว่า เราเคยประสบวิกฤติทางด้านอาหารมาแล้ว 3 ครั้ง ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ที่เมล็ดพันธุ์ทางการเกษตรมีราคาสูงมาก แต่ปัจจุบันนี้เราก็กำลังจะเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางด้านอาหารอีก เพราะปัญหาหลายอย่าง อาทิในอีก 100 ปีข้างหน้า น้ำมันในโลกก็จะถูกนำมาใช้จนหมด ทำให้กระบวนการในการผลิตอาหารหยุดชะงักไปด้วย นอกจากนี้แล้วปัญหาในเรื่องการใช้สารเคมีทางการเกษตรยังส่งผลให้ผู้บริโภคกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ตรวจพบสารฆ่าแมลงในเลือด จำเป็นที่เราจะต้องเร่งสร้างความปลอดภัยทางอาหารให้เกิดขึ้น เพราะหากเราไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีมีคุณภาพได้ ก็จะกลายเป็นภัยพิบัติที่จะนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหารได้เช่นกัน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ได้ขึ้นกล่าวแสดงทัศนะในเรื่อง “ความเป็นพลเมืองกับการกอบกู้อธิปไตยทางอาหารของสังคมไทย” ว่า ทุกวันนี้ทุกคนมุ่งเน้นความเป็นอธิปไตยในแง่มุมทางการเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อธิปไตยในแง่มุมทางกายภาพซึ่งรวมถึงเรื่องของอาหารการกินนั้นกลับไม่มีใครพูดถึง ความเป็นเอกราชในเรื่องอาหารนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ world bank เคยสำรวจพันธ์ข้าวพื้นเมืองในประเทศไทยพบว่ามีพันธ์ข้าวของประเทศไทยกือบแสนสายพันธ์ แต่ปัจจุบันนี้เหลือเพียง 40-50 สายพันธ์ และพันธ์ข้าวอีกหลายชนิดก็ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ นั่นหมายถึงอธิปไตยทางเศรษฐกิจของเราที่สูญเสียไปแล้ว
สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดในตอนนี้คือ รูปแบบของการทำการเกษตรของเราเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนที่ผลิตแค่พอกิน หรือแบ่งและแลกกันกิน แต่ปัจจุบันการผลิตอาหารของเราต้องเข้ามาตอบโจทย์กลุ่มทุน และเป็นการผลิตเพื่ออุตสาหกรรม ทำให้คนผลิตอาหารของบ้านเราต้องกลายเป็นทาสทุน โดยเฉพาะการทำการเกษตรแบบ ‘คอนแท็คฟาร์มมิ่ง’ ที่เกษตรกรต้องมาแบกรับทุกอย่างด้วยตนเอง แต่นายทุนมีแต่ได้กำไร
“ท่านมหาตมะคานธีกล่าวไว้ว่า การจะแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในประเทศ ไม่สามารถแก้ไขโดยการผลิตขนาดใหญ่ได้ แต่ต้องผลิตโดยคนส่วนใหญ่ การที่เราจะเรียกร้องอธิปไตยกลับคืนมาเราจึงควรจะเริ่มต้นจากอธิปไตยทางอาหาร เมื่อเราเริ่มต้นจากเรื่องของอาหารที่เป็นเอกราชและเป็นอธิปไตยของเรา เราก็สามารถสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจได้ เพราะถ้าเราไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเสียแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะมีอธิปไตยหรือเอกราชในเรื่องอื่นได้” น.ส.รสนากล่าว
ที่มา : เว็บไซต์ “ปันสุข” สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3)