ไอดอลคิดดี ก้าวย่างใหม่วัยรุ่นเท่าทันสื่อ
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : กิจกรรมหนุนเสริมการสร้างนิเวศสื่อสร้างสรรค์ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา วันที่ 20 ธันวาคม 2566
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“…สถานการณ์การใช้อินเตอร์เน็ต เครือข่ายในการเชื่อมต่อที่กระจายครอบคลุมไปทั่วโลก ปัจจุบันแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ไปแล้ว ภาพรวมของคนไทย ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึงวันละ 61 ล้านคน ฅ เฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาที และ ปฏิเสธไม่ได้ว่า social media หรือสื่อสังคมออนไลน์ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, TikTok, Twitter, YouTube หรือ LINE ใช้งานสื่อโซเชียล มากถึง 75% ของประชากร…”
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในโอกาสจัดกิจกรรมหนุนเสริมการสร้างนิเวศสื่อสร้างสรรค์ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา เมื่อปลาย ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
อีกทั้งยังสะท้อนถึงการใช้สื่อดิจิทัล เปรียบเสมือนดาบสองคม หากเลือกใช้อย่างถูกวิธี ก็จะนำพาไปสู่โอกาสและความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด หากเมื่อใดใช้ผิดวิธี ก็จะกลายเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพกายและใจในระยะยาวได้เช่นกัน ล้วนส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ให้ตกเป็นเหยื่อได้มากมาย
จากปัญหาดังกล่าว สสส.จึงหาทางร่วมสานพลังภาคีเครือข่ายสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ ในเด็กและเยาวชน คนรุ่นใหม่ให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะ เพื่อสร้างสุขภาวะทางปัญญาต่อการเปลี่ยนแปลงสื่อออนไลน์ให้มีคุณภาพ ด้วยการสร้างนิเวศสื่อสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ “คิดดีไอดอล” โดยสานพลังความร่วมมือกับ“ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว” ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 7 ปี จึงเป็นงานที่สำคัญ
นำร่องด้วยเยาวชนนักสร้างสรรค์สื่อใน 10 จังหวัด จาก 3 ภูมิภาค สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เพชรบูรณ์ อุดรธานี และบุรีรัมย์ เข้าสู่กระบวนการ Hackathon 4Health ซึ่งเป็นกิจกรรมการระดมสมองของทีมนักแก้ปัญหาและนักพัฒนา ที่จะทำเรื่องยากและซับซ้อนให้ประสบความสำเร็จในระยะอันสั้น ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ สื่อวิดีโอ บอร์ดเกม หรือไพ่ทาโรต์ เป็นต้น
สามารถยกระดับความสำเร็จของโครงการ “คิดดีไอดอล” ผ่านเวที Show Case โดยนำเสนอผลงานนวัตกรรม สานพลัง ภาคีเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ ในหลักสูตรคิดดีไอดอล ที่นำร่องบรรจุการเรียนการสอนในมทร.ศรีวิชัย จ.สงขลา เพื่อผลิตนักศึกษาเป็นนักสื่อสารสุขภาวะมีทักษะ ความรับผิดชอบ ในการผลิตสื่อเพื่อเสริมทักษะการใช้ชีวิต และขยายผลสู่หลักสูตรนิเทศศาสตร์ ใน 9 สถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ ต่อไป
ผศ.ปิยะ ประสงค์จันทร์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา กล่าวว่า “พร้อมที่จะเปิดพื้นที่ปฏิบัติการเรียนรู้ศูนย์บ่มเพาะนักสื่อสารสุขภาวะ สู่การพลิกโฉมการศึกษาของมหาวิทยาลัย ตามโครงการคิดดีไอดอล โดยบรรจุเข้าสู่หลักสูตรการเรียน และสอดแทรกในวิชาเรียน ภาคปฏิบัติเองก็จะยกระดับให้เป็นหน่วยกิตที่เทียบเท่ากับการสร้างนวัตกรรมต่อไป
สอดรับกับการบอกเล่าความสำเร็จของโครงการคิดดีไอดอล นายฮาริส มาศชาย ผู้จัดการโครงการคิดดีไอดอล สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า โครงการในพื้นที่ภาคใต้ เข้าสู่ปีที่ 7 ปัจจุบันได้ขยายผลสู่ภาคเหนือและภาคอีสาน เน้นนำเยาวชนซาย-หญิง 16-24 ปี เข้าร่วมกระบวนการ Hackathon 4Health ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าร่วมถึง 1,132 คน จากทั้งหมด 73 ทีม ลงพื้นที่วิเคราะห์ปัญหาพัฒนาสื่อผ่านกิจกรรม เพื่อขยายผลผ่านสังคมออนไลน์ อายุ 10-25 ปี ได้มากกว่า 1,450 คน
การลงพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา ครั้งนี้ ได้พบกับ กลุ่ม SHINPAI By HWKS นำโดย นส.ซารีนา หลีหมัด, นส.เกวลิน ปินตุรัต, นส.อัลวานี สนิทศาสตร์, นส.วาลิทา ดารากัย และ นส.ฟิตดาวร์ กิจราช จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร จ.สงขลา บอกว่า “ เป็นทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขันภายในโรงเรียน โดยทำงานเกี่ยวกับเรื่องภาวะความเครียด เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย
“โดยชิ้นงานจะเป็นการ์ดฮีลใจ เกี่ยวกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ที่เมื่ออ่านแล้วสบายใจ ผ่อนคลายความเครียดได้ดี กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักเรียนมัธยมต้น ได้รับผลตอบรับดีมาก และจะต่อยอดขยายผลสู่กลุ่มเด็กอนุบาล และประถมศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับหลักคำสอนได้”
และได้พบกับกลุ่ม HomeHug จากโรงเรียนศาสนศึกษา จ.ปัตตานี ฯ โดย นส.อุลยาอ์ หะยีสามะ และ นส.อาลาอ์ แคเม๊าะ เล่าว่า “ทีมได้เข้าร่วมกระบวนการ Hackathon โดยอ่านหนังสือจิตวิทยาด้านการจัดการอารมณ์และความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ รู้สึกการที่ได้อยู่กับเรื่องราวในหนังสือทำให้เกิดพลังมากกว่าเพราะได้อยู่กับตัวเอง เมื่อทีมได้นำชิ้นงานไปจัดแสดงในโรงเรียน มีผลตอบรับจากผู้อ่านว่า รู้สึกได้อยู่กับตัวเองจริง ๆ อย่างลึกซึ้งมากกว่าเดิม
ทีมยังฝากในฐานะเยาวชน อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจสิ่งที่เด็กแสดงออกมา อย่าเพิ่งตีความว่าเด็กมีปัญหาหรือนิสัยไม่ดี และอยากให้ผู้ใหญ่ลองใช้ความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นด้วย”
สสส. มุ่งสร้างสื่อสร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลงสื่อออนไลน์ให้มีคุณภาพ เพื่อยกระดับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยเป็นพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ สู่การมีสุขภาวะทางปัญญาที่ดีต่อไป