“ไหว้ผีหอเจ้าเมือง เรียนรู้เรื่องเลิกเหล้า”

ส่งผลให้ชุมชนเป็นสุข

“ไหว้ผีหอเจ้าเมือง เรียนรู้เรื่องเลิกเหล้า” 

          “ไทใหญ่” เป็นชื่อที่คนไทยคุ้นเคยมานาน ชาวไทใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ ที่อาศัยอยู่บริเวณรัฐฉานภาคเหนือของประเทศพม่า บางส่วนอยู่ตะเข็บชายแดนไทย-พม่า บริเวณดอยไตแลง ปัจจุบันชาวไทใหญ่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่น พม่า ลาว ไทย และในเขตประเทศจีนตอนใต้ ในประเทศไทยพบชาวไทใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และแม่ฮ่องสอน

 

          ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านลานชุมชนไทใหญ่ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แนวตะเข็บชายแดนไทย -พม่า ทุกๆ ปีในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 (ของไทใหญ่) จะมีการประกอบ พิธีไหว้หอเจ้าเมือง หนึ่งในสื่อพื้นบ้านของชาวไทใหญ่อันมีบทบาทหน้าที่แสดงถึงความเคารพและตอบแทนคุณต่อดวงพระวิญญาณของเจ้าเมือง ที่คุ้มครองลูกหลานในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข

 

          เจ้าบ้าน เจ้าเมือง หมายถึง ผู้ที่เคยเป็นเจ้าเมืองปกครองชุมชนไทใหญ่มาในอดีต คนไทใหญ่มีความเชื่อว่าดวงวิญญาณของเจ้าเมืองทั้งหลาย ยังคงทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองคนในชุมชนอยู่เสมอ จึงได้สร้างหอเจ้าบ้านเจ้าเมืองไว้ในหมู่บ้าน และทุกๆ ปีของวันขึ้น 13 ค่ำเดือนเจ็ด คนในชุมชนทุกครัวเรือน สิ่งที่ชาวบ้านนำไปไหว้ก็ได้แก่ ดอกไม้สีขาว ใบไม้สีเขียว ข้าวต้มก้นแหลม ธูปเทียน น้ำส้มป่อย ซึ่งแต่ละอย่างต้องมีจำนวน 2 ชุดต่อ 1 คน เช่น บ้านใดมีสมาชิก 4 คน ก็ต้องเตรียมกรวยใส่ดอกไม้ 8 ชุด ข้าวต้มก้นแหลม 8 ห่อ ธูปเทียน 8 ชุดดังนี้เป็นต้น

 

          ช่วงก่อนฤดูการเก็บเกี่ยว ณ หอเจ้าเมือง อันเป็นที่ประทับของเจ้าเมืองซึ่งเป็นบรรพบุรุษที่ปกป้องรักษาดูแลลูกหลานในหมู่บ้าน เจ้าเมืองจะมาประทับเพื่อรับการเซ่นสรวงจากชาวบ้าน ชาวไทใหญ่ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่นการปลูกข้าว จะสักการะ ขอพรให้เจ้าเมืองดูแลผลผลิตให้อุดมสมบูรณ์ โดยสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปี เช่น ฝนฟ้าอากาศและภัยธรรมชาติ วันนี้ถือได้ว่าเป็นวันรวมญาติเพราะญาติพี่น้องที่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองก็จะกลับมาพร้อมหน้ากัน

 

          โครงการสื่อพื้นบ้านเพื่อการลด ละเลิกเหล้า(สพล.) ภายใต้มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ (มรภ.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการปอยออกหว่า ชาวไตใหญ่ไม่ดื่มเหล้า 1 ใน 16 โครงการและสื่อพื้นบ้านเพื่อการลด ละ เลิกเหล้า จุดมุ่งหมายหลักของโครงการก็เพื่อรื้อฟื้นด้านคุณค่าบทบาทหน้าที่ของปอยออกหว่า และนำไปสู่การปรับประยุตก์และสอดแทรกเข้ากับพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อลด ละ เลิกเหล้า

 

          ในอดีตการไหว้เจ้าบ้านจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น.ในวันนี้คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะหยุดงานเพื่อไปร่วมพิธี ในระหว่างรอคนมาพร้อมกัน รอฤกษ์ยามก็จะมีการเล่นไพ่ ดื่มเหล้าของกลุ่มพ่อบ้านที่ไปชุมนุมกันที่บริเวณหอเจ้าบ้าน เมื่อคนไปพร้อมกันแล้วเวลาประมาณ 11.00 น. หมอเมืองก็จะเริ่มเสี่ยงทายว่าวิญญาณเจ้าบ้านเจ้าเมืองได้เสด็จมาหรือยังโดยการวาไม้ หากผลการเสี่ยงทายว่าเจ้าเมืองเริ่มมาแล้วก็จะมีการเทเหล้าถวาย เริ่มฆ่าไก่ที่นำมาไหว้ นำไก่ไปต้ม และหมอเมืองก็จะถวายของบวงสรวงที่คนในชุมชนนำมาร่วมกันถวาย

 

          ของที่ใช้ในพิธีไหว้หอเจ้าเมือง จะมีหมอเมืองหรือที่ชาวไทใหญ่เรียกว่า “ปู่เมือง” เป็นผู้นำในการประกอบพิธี ถวายอาหารคาว หวาน ผลไม้ และเหล้า 4 ขวดแก่เจ้าเมือง หลังจากเสร็จพิธี ทั้งอาหารและเหล้า แจกจ่ายให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมพิธีได้ดื่มกินเพื่อเป็นสิริมงคล และผลจากการดื่มเหล้าก็เริ่มก่อให้เกิดปัญหาขึ้นตามมา ทั้งการทะเลาะวิวาท ปัญหาหนี้สินอันเกิดจากการเสพอบายมุขทั้งสุราและการพนัน

 

          โครงการปอยออกหว่าชาวไตไม่ดื่มเหล้าได้เข้าไปทำงานในพื้นที่เมื่อเห็นปรากฏการณ์ของปีที่ผ่านมา จึงจัดเวทีกระตุ้นให้ชุมชนเห็นคุณค่าของเหล้าที่ผ่านพิธีกรรมและเหล้าที่ชาวบ้านซื้อมาดื่มพร้อมผลกระทบที่เกิดขึ้น ทีมงานได้เปิดเวทีให้ชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมวางแผนว่าจะทำอย่างไรจะสามารถลดจำนวนคนดื่มเหล้าในพิธี และขอความร่วมมือไปยังร้านค้าให้งดขายเหล้าในวันไหว้เจ้าเมืองซึ่งถือเป็นวันมงคล เป็นวันที่คนในหมู่บ้านมาร่วมทำพิธีแสดงความกตัญญูต่อดวงวิญญาณของเจ้าผู้เคยปกครองบ้านเมือง และขอพรเพื่อเป็นมงคลของชีวิต ซึ่งปรากฏว่าคนในชุมชนบ้านลานได้ให้ความร่วมมือดีมาก คือเหล้าในพิธีกรรมมีเพียงแค่ 4 ขวด ชาวบ้านไม่มีการซื้อมาเพิ่ม พ่อบ้านแม่บ้านไม่ดื่มเหล้า

 

          ดังนั้นในวันไหว้เจ้าเมืองปีนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน 2551 บริเวณลานหน้าหอเจ้าเมืองจึงไม่มีวงเหล้า ไม่มีวงเล่นไพ่ให้เด็กๆ เห็น คงมีแต่เสียงฆ้องกลองที่บรรเลงในพิธี ปีนี้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่นั่งล้อมวงกันฟังดนตรี สล่าฟ้อนเจิง ก้าลาย ได้ออกมาร่ายรำอวดลายก้า (ท่ารำ) ของตนเองอย่างสนุกสนาน เด็ก ๆได้เห็นศิลปะการร่ายรำแบบโบราณ การบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน สีหน้าของพวกเขามีแต่ความสุข ตื่นตาตื่นใจ สนใจในการแสดงของพ่อเฒ่า และหนุ่มๆ ที่ตั้งใจออกวาดลวดลายฟ้อนเจิงกัน รอยยิ้ม เสียงหัวเราะของบรรดาแม่บ้าน แม่เฒ่า พ่อเฒ่า เด็กๆ แสดงถึงความสุข

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

Update:31-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code