ไส้เดือนดิน หนึ่งตัวช่วย แก้ปัญหาขยะล้น

 

ไส้เดือนดิน หนึ่งตัวช่วย แก้ปัญหาขยะล้น

 

ปัญหาขยะล้นเมืองคือปัญหาหลักของชาวเทศบาลตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการเลี้ยงไส้เดือน วิธีทางธรรมชาติที่ช่วยจัดการปัญหาขยะอิทรีย์ของครัวเรือน

แรกเริ่ม ทางกลุ่มอาสาสมัครบ้านผึ้งได้รวมตัวนำขยะจากบ้านตัวเองมาทดลองเลี้ยงไส้เดือน และมีการเก็บปุ๋ยจากไส้เดือน เพื่อไปจำหน่ายหารายได้นำมาพัฒนาขอบเขตการเลี้ยงไส้เดือนให้เพิ่มมากขึ้น โดยไม่เน้นเรื่องการหารายได้ แต่เน้นให้สมาชิกได้ปฏิบัติจริง

ในต่างประเทศนั้น ระยะเริ่มแรกมีการวิจัยที่สถานีทดลองโรธาม์ส ประเทศอังกฤษเมื่อปี 1980 ซึ่งขยะอินทรีย์ที่ใช้ไส้เดือนดินย่อยสลายประกอบด้วยมูลสุกร มูลวัว มูลม้า มูลกระต่าย ของเสียจากการเลี้ยงไก่ไข่ ไก่กระทง ไก่งวงเป็ด และกากเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ

ต่อมาภายหลังได้มีการวิจัย ใช้ไส้เดือนดินกำจัดเศษเหลือทิ้งจากการผลิตผักด้วย โดยเฉพาะเศษเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมการผลิตเห็ด อุตสาหกรรมมันฝรั่ง อุตสาหกรรมการผลิตเหล้าและเบียร์ และเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ

ในระยะเริ่มต้นได้ทดลองในห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก แต่ต่อมาได้พัฒนาและขยายไปทดลองในระดับพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น เช่นในฟาร์ม และในที่สุดก็พัฒนาระบบต่างๆ ให้เหมาะสมสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์

ขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือนของชาวเกาะคา เริ่มต้นโดยการเตรียมที่อยู่ให้ไส้เดือน คือการนำมูลสัตว์มาผสมกับดินร่วนในอัตราส่วนเท่าๆ กัน รดน้ำให้เปียกชุ่ม เพื่อให้มูลสัตว์คลายความร้อน ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ วัดอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส จึงสามารถเลี้ยงได้

ต่อมานำไส้เดือนลงปล่อยในบ่อเลี้ยงใช้พื้นที่ 1 ตารางเมตร ต่อไส้เดือน 1 กรัม ในกระบวนการจัดการขยะเหลือทิ้งต่างๆ เหล่านี้ โดยใช้ไส้เดือน มีวัตถุประสงค์ 2 หัวข้อหลัก คือ

1. เพื่อนำเศษเหลือใช้ หรือขยะอินทรีย์ทางการเกษตรมาให้ไส้เดือนดินย่อยสลาย แล้วนำผลผลิตจากการย่อยสลายขยะอินทรีย์เหล่านั้นมาใช้เป็นปุ๋ยใส่เข้าไปในพื้นดินที่ทำการเกษตร เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดิน และเพิ่มแร่ธาตุอาหารแก่พืช นำมาใช้กับ การผลิตพืชสวนประดับ เช่น การใช้เป็นวัสดุเพาะกล้า หรือใช้ผสมกับวัสดุปลูกอื่นๆ สำหรับปลูกไม้กระถางทางการค้า เพื่อลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมี

2. เพื่อนำผลผลิตของตัวไส้เดือนดินที่ขยายได้จากขบวนการกำจัดขยะนำมาผ่านขบวนการที่เหมาะสมเพื่อผลิตเป็นอาหารโปรตีนสูงสำหรับสัตว์ต่างๆ เช่น ไก่ ปลา หมู และสัตว์ชนิดอื่นๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อโปรตีนอาหารสัตว์

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ และสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากบ้านเรือนสูงมาก ประกอบกับนโยบายด้านการพัฒนารักษาสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด และจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมของประชาชน ส่งผลให้การกำจัดขยะอินทรีย์ที่เกิดจากครัวเรือนมีประสิทธิภาพมาก ซึ่งการใช้ไส้เดือนดินย่อยสลายขยะอินทรีย์ในครัวเรือนก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก และสามารถลดประมาณขยะอินทรีย์จากครัวเรือนได้

ภายในบ้านเรือนที่มักมีกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดขยะอินทรีย์หลายชนิด โดยเฉพาะกิจกรรมการประกอบอาหารของครอบครัวในแต่ละวัน จะมีขยะอินทรีย์จำพวกเศษผัก เปลือก ผลไม้ หรือเศษอาหารเหลือทิ้งเป็นประจำ ซึ่งในแต่ละครัวเรือนโดยเฉลี่ย จะทิ้งขยะอินทรีย์ต่างๆ เหล่านี้อย่างน้อยประมาณ 1.5-3 กิโลกรัมทุกวัน หากเป็นชุมชนที่ใหญ่กว่านี้ ย่อมมีขยะอินทรีย์ที่มากกว่าหลายร้อยเท่า

ขยะอินทรีย์เหล่านี้จะถูกใส่ถุงขยะแล้วทิ้งทุกวัน โดยรถเทศบาลจะมารับแล้วนำไปกำจัดต่อไป ขยะที่ทิ้งออกจากบ้านเรือนเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นเป็นแหล่งสะสม และแหล่งก่อโรค และแพร่กระจายโรค โดยแมลงวัน หรือแมลงสาบ รวมทั้งก่อให้เกิดน้ำเสียในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษเหล่านี้ปีละหลายล้านบาท

ดังนั้น หากแต่ละบ้านเลี้ยงไส้เดือนภายในบ้าน และกำจัดขยะอินทรีย์ต่างๆ เหล่านี้ ก็จะสามารถลดปริมาณขยะลงได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถเลี้ยงไส้เดือนดินภายในภาชนะต่างๆ เช่น อ่างพลาสติก ลิ้นชักพลาสติกบ่อซีเมนต์ หรือกระถางต้นไม้ไว้ภายในบริเวณบ้าน หรือภายในห้องครัว เมื่อประกอบอาหารและมีเศษผักเศษผลไม้ หรือเศษอาหารเหลือ ก็สามารถนำไปใส่ภายในภาชนะต่างๆ ที่เลี้ยงไส้เดือนดินดังกล่าว ให้ไส้เดือนดินย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยต่อไป

โดยสามารถใส่เศษขยะอินทรีย์ได้ทุกวัน และเมื่อครบ 30-60 วัน ก็สามารถแยกนำมูลไส้เดือนดินภายในภาชนะ หรือน้ำหมักที่ รองได้ไปใช้ปลูกต้นไม้ในบ้านได้ ไส้เดือนที่ขยายเพิ่มขึ้นก็สามารถนำไปใช้เลี้ยงในภาชนะอื่นๆ ต่อไป หรือใช้จำหน่ายให้บ่อตกปลา หรือใช้เป็นอาหารเลี้ยงไก่เลี้ยงปลา เพื่อเป็นโปรตีนเสริมได้

ปัจจัยการเลี้ยงไส้เดือนที่สำคัญคือความชื้น 80-90 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส ความเป็นกรด-ด่าง เป็น 7 แหล่งอาหาร และการระบายอากาศ ความมืด รวมถึงการดูแลเอาใจใส่ ผลที่ได้จากการเลี้ยงไส้เดือน คือ ปุ๋ยมูลไส้เดือน 100 เปอร์เซ็นต์ มีลักษณ์เป็นเม็ดร่วนละเอียด สีดำออกน้ำตาลโปร่ง เบา มีความพรุน ระบายน้ำ และอากาศได้ดี ส่วนปุ๋ยน้ำ หรือฉี่ของไส้เดือนผสมน้ำ 1 ต่อ 20 ใช้พ่นรดต้นไม้ไม่มีกลิ่นเหม็น

กรรณิการ์ ขาวละมูล ประธานกลุ่มเลี้ยงไส้เดือนยอมรับว่า แรกๆ เธอก็กลัวไส้เดือนไม่ต่างจากผู้หญิงทั่วๆ ไป “เลี้ยงไปเรื่อยๆ เราก็ชิน เห็นถึงความน่ารัก และประโยชน์ ปุ๋ยที่ได้ก็ดีกว่าปุ๋ยหมักทั่วไป มีคุณภาพกว่า มีจุลินทรีย์เยอะ ฉี่ของมันดีกว่าอีเอ็มเสียอีก ราดห้องน้ำที่เต็มได้ด้วย ร้านดอกไม้ก็มาซื้อไส้เดือนไปทำเอง”

ในอนาคตเธอคาดหวัง อยากให้ทุกครัวเรือนสามารถเลี้ยงไส้เดือนดินเองได้

 

 

ที่มา : ปันสุข

Shares:
QR Code :
QR Code