ไม่ออกกำลังกาย-เก็บตัว เสี่ยงเซลล์สมองเสื่อม

          ไม่ออกกำลังกาย เก็บตัวไม่พบผู้คนเสี่ยงเซลล์สมองเสื่อม แพทย์แนะตรวจคัดกรองหาสาเหตุ 


ไม่ออกกำลังกาย-เก็บตัว เสี่ยงเซลล์สมองเสื่อม thaihealth


          ไม่ออกกำลังกาย เก็บตัวไม่พบผู้คน ไม่ค่อยใช้สมอง โรคเรื้อรัง พ่วงสูบบุหรี่ เสี่ยงเซลล์สมองเสื่อม แพทย์จุฬาฯ เผยความจำระยะสั้นมีปัญหาคืออาการแรกที่ปรากฏ แนะตรวจคัดกรองหาสาเหตุ ระบุสมองเสื่อมมีทั้งรักษาได้ และรักษาไม่ได้ ชี้ อัลไซเมอร์เป็นกลุ่มรักษาไม่ได้ แต่ชะลอได้


          นพ.ยุทธชัย ลิขิตเจริญ อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ภาวะสมองเสื่อม แบ่งกลุ่มอาการออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. กลุ่มอาการที่เซลล์สมองเสื่อมไม่สามารถรักษาและหยุดการดำเนินของโรคได้ เช่น อัลไซเมอร์ จะพบมากที่สุดในกลุ่มนี้ และ 2. เซลล์สมองเสื่อมที่สามารถรักษาและหยุดการดำเนินโรคได้ เช่น เซลล์สมองเสื่อมที่เกิดจากปัญหาหลอดเลือดสมอง อาการทางจิต โรคซึมเศร้า หรือขาดวิตามินบางตัว คือ วิตามินบี 12 และโฟเลต ซึ่งการขาดวิตามินพบได้น้อย มักพบในกลุ่มผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ดังนั้น การรักษาอาการเซลล์สมองเสื่อม จึงต้องคัดกรองหาสาเหตุเพื่อรักษาให้ตรงกับการเจ็บป่วย โดยเฉพาะกลุ่มที่สามารถรักษาได้ จะมีโอกาสกลับมาได้เกือบเหมือนเดิม


          นพ.ยุทธชัยกล่าวว่า อาการเริ่มแรกของผู้ป่วยเซลล์สมองเสื่อม จะปรากฏให้เห็นในด้านของความจำระยะสั้นเป็นลำดับแรก เช่น พูดเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ หลงลืมในระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์เปลี่ยนแปลง ความสามารถในการใช้ภาษาแย่ลง เป็นต้น การตรวจจะทำด้วยการซักประวัติ ทำแบบทดสอบร่วมกับนักจิตวิทยาซึ่งจะมีเกณฑ์การวินิจฉัยอยู่ บางครั้งอาจต้องตรวจคลื่นสมอง ดูภาพสมองร่วมด้วยเพื่อหาสาเหตุของโรคว่าเกิดจากปัจจัยใดเพื่อวางแผนการรักษา หากเป็นชนิดรักษาได้ก็จะรักษาในจุดที่ทำให้เกิดความเสื่อมไป เช่น รักษาโรคซึมเศร้า เพิ่มวิตามินที่ขาด หรือรักษาหลอดเลือดตีบหรือตัน และบางครั้งพบว่าการเกิดก้อนเนื้อในสมองก็ทำให้เกิดเซลล์สมองเสื่อมได้ ส่วนถ้าเป็นชนิดรักษาไม่ได้ จะใช้วิธีดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งหากตรวจเจอในระยะแรกก็สามารถใช้วิธีบำบัดเพื่อให้อาการดำเนินไปช้าลงได้


          “เซลล์สมองเสื่อมที่รักษาไม่ได้ที่พบบ่อยที่สุด คือ อัลไซเมอร์ พบว่าร้อยละ 5 เกิดจากกรรมพันธุ์ ร้อยละ 30 เกิดจากพันธุกรรม ที่เหลือไม่ทราบสาเหตุ โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งอัลไซเมอร์ ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิด พยายามให้เกิดกิจกรรมทางสมอง เช่น พูดคุย สร้างบรรยากาศที่ดี เล่นเกมกระตุ้นความคิด การรับข้อมูลข่าวสารใหม่ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม จะช่วยชะลออาการได้”


          นพ.ยุทธชัยกล่าวว่ากลุ่มโรคเซลล์สมองเสื่อมมีสาเหตุที่ไม่ชัดเจน แต่พบความสัมพันธ์กับกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายน้อย ไม่ออกกำลังกาย เก็บตัวไม่พบปะผู้คน ไม่ค่อยได้ใช้สมอง และโรคทางกาย เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง การสูบบุหรี่ ด้วย การป้องกันที่สำคัญคือการลดความเสี่ยงต่างๆ ส่วนการกินอาหารเสริมยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดถึงประโยชน์ที่ชัดเจน


 


 


          ที่มา:เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 

Shares:
QR Code :
QR Code