‘ไม่ประมาท-มีจิตสำนึก’ ‘ลดตายบนถนน’ คนไทยทำได้?
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
'ไม่ประมาท-มีจิตสำนึก' ลดเร็ว ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัยปีใหม่ 2561
"ผมเคยมีเงินใช้วันละพันสองพันบาท แต่ต้องมาหนีออกจากโรงพยาบาลเพราะไม่มีเงินจ่าย ไม่ได้กลับไปคอนโดที่ซื้อไว้ แต่กลับไปอยู่สลัมที่เคยพาครอบครัวหนีออกมา สลัมที่มีอบายมุขทุกอย่าง ผมนอนอยู่ในนั้นเกือบปี ไม่กล้าออกจากบ้าน มีแต่แฟนที่ไปขอยาจากสถานีอนามัย แฟนผมก็หน้าเสียโฉมไปครึ่งหนึ่ง ไปของานที่ไหนทำก็ไม่ได้ อดมื้อกินมื้อบางวันก็ต้องไปขอข้าววัด ลูกผมเคยเรียนโรงเรียนดังๆ พอผมโดนรถชนก็ต้องออกไปเรียนโรงเรียนของรัฐบาลที่มีข้าวกลางวันฟรี และต้องฝากภารโรงให้ช่วยห่อข้าวกลับมากินตอนเย็น"
เรื่องเล่าจาก เจษฎา แย้มสบาย ที่ปัจจุบันเป็นอัมพาตครึ่งล่างต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นตลอดเวลา ชีวิตของเขาจากที่เคยมีความสุข ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน เพียงเพราะผู้ใช้รถใช้ถนนบางคนที่ "ไร้ความรับผิดชอบ" ดื่มฉลองกันจนเมามาย แล้ว "เหยียบมิด" ซิ่งรถเก๋งพุ่งมาชนเขาที่ขี่มอเตอร์ไซค์จอดรอสัญญาณไฟแดงอย่างแรง ภรรยานั้นกระเด็นไปทางหนึ่ง แต่ตัวเขาถูกรถเก๋งลากร่างไปไกลอีกหลายสิบเมตร
เจษฎา บอกเล่าเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์ ในงานแถลงข่าว "ลดเร็ว ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัยปีใหม่ 2561" ณ รร.ริชมอนด์ ถ.รัตนาธิเบศร์ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี ว่า ย้อนไปเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 2540s เป็นช่วงที่ชีวิต "กำลังไปได้สวย" เพราะสามารถถีบตัวจาก "เด็กสลัม" ทำงานรับจ้างเข็นของในตลาด เก็บเงินเก็บทองจน "มีแผงค้าเป็นของตนเอง" และต่อมาสามารถย้ายออกจากสลัมไปซื้อคอนโดมิเนียมอยู่อาศัย กระทั่งในเดือน ส.ค. 2544 ก็มาประสบอุบัติเหตุที่ตัวเขา "ไม่ได้ก่อ" เพราะนอกจากจะ "ไม่ดื่ม" แล้วเวลานั้นยัง "ทำตามกฎจราจร" อีกต่างหากหนุ่มเคราะห์ร้ายรายนี้ เล่าต่อไปว่า เขาสลบไม่ได้สติไป 3 วัน เมื่อตื่นขึ้นมายังต้องพักรักษาตัวใน โรงพยาบาลอีก 4 เดือน แล้วก็ต้องมาทราบ "ความจริง ที่โหดร้าย" ติดต่อกันถึง 2 เรื่อง คือนอกจากจะต้องกลายเป็นคนพิการ แล้วยังต้อง "สิ้นเนื้อประดาตัว"เงินที่เก็บออมไว้หลายแสนบาท ถูกใช้ไปจนหมดในระหว่างการรักษาตัว โดยที่คู่กรณี "ไม่เคยมาเหลียวแล" และด้วยความที่ยุคนั้น "กล้องวงจรปิดยังไม่ แพร่หลาย" จึงไม่อาจไปต่อสู้เรียกร้องอะไรได้ เพราะไม่มีหลักฐานไปยืนยัน
"ตอนที่หมอบอกว่าผมเป็นอัมพาตแล้ว เป็นคนพิการแล้ว ผมสติหลุดแทบจะกลายเป็นสัตว์ป่าเลย ปกติผมพูดอะไรจะให้เกียรติคนมากๆ แต่ตอนนั้นก็ด่าหมอ ก็คิดว่าถ้าหมอบอกผมตั้งแต่วันที่ผมฟื้นขึ้นมาตอนแรกว่าผมพิการ ผมจะไม่รับการรักษาเลย ค่ารักษาก็มาจากเงินเก็บกับประกันชีวิต ไม่ใช่เงินคนที่ชน แผงค้าที่ผมเซ้งมาก็ต้องคืนเขาไป เพราะช่วงที่นอนโรงพยาบาลผมไม่ได้จ่ายค่าผ่อนเขา ของในห้องทั้งทีวี ตู้เย็น ชุดโฮมเธียเตอร์ ผมซื้อมารวมๆ สามแสนกว่าบาท แม่ผมต้องให้คนรับซื้อของเก่ามาขนไป ได้เงินมาแค่แสนกว่าบาทเพื่อมาจ่ายค่ายาผม" เจษฎา กล่าวนี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ กรณี ดังที่เราทราบกันว่า "ในแต่ละปีมีคนตายบนท้องถนนเมืองไทยนับหมื่นศพ และไม่ตายแต่กลายเป็นคนพิการอีกนับพันคน" ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจาก "พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างประมาท" โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาแล้วขับรถ การขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การฝืนขับรถในสภาพง่วงล้า และอาจรวมถึงพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎจราจรในลักษณะอันตราย เช่น เลี้ยวไม่เปิด ไฟเลี้ยว ฝ่าสัญญาณไฟแดง สิ่งเหล่านี้ปรากฏเป็นข่าวให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนเมืองไทย "ส่วนใหญ่ไม่เมาก็ซิ่ง" ดังการเก็บข้อมูลช่วง "7 วัน อันตราย" ส่งท้ายปีเก่า 2559-ต้อนรับปีใหม่ 2560 (29 ธ.ค. 2559-4 ม.ค. 2560) ที่มีผู้เสียชีวิต 478 ศพ บาดเจ็บ 4,128 คน พบว่า การดื่มเครื่องดื่ม มึนเมาแล้วไปขับขี่ยานพาหนะอยู่ที่ร้อยละ 36 ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 31
"มันมีตัวเลขทางวิชาการระบุว่า ถ้าเราขับเร็วเกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วงเวลาตัดสินใจมันจะเหลือน้อยมาก แล้วถ้าขับที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเหลือแค่เสี้ยววินาที วันนี้ทุกหน่วยงานจึงอยากลดความเสี่ยงอย่างน้อย 2 เรื่อง 1.ดื่มต้องไม่ขับ 2.อย่าขับรถเร็ว ในเมืองไม่ควรเกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกเมืองไม่ควรเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ที่น่าหนักใจคือเคยมีการสำรวจโดยมูลนิธิไทยโรดส์ สอบถามคน 2,980 คน พบว่า 2 ใน 3 เคยขับรถเร็ว ในเมืองเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกเมืองเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง" นพ.คำนวณ ระบุนอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว "ง่วงหลับใน" ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญของความสูญเสียบนท้องถนน โดยเฉพาะในกลุ่ม "รถโดยสารสาธารณะ" ดังกรณีสะเทือนขวัญเมื่อ 2 ม.ค. 2560 ที่รถตู้สายกรุงเทพฯจันทบุรี ชนกับรถกระบะบริเวณถนนสาย 344 เส้นทาง ระหว่าง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี กับ อ.แกลง จ.ระยอง จนมีผู้เสียชีวิต 25 ศพ แล้วพบว่าคนขับรถตู้ก็ เสียชีวิตด้วยเช่นกัน "ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มมึนเมาหรือใช้สารเสพติด แต่เป็นเพราะเร่งทำรอบโดยวิ่งไปกลับรวม 5 รอบในเวลา 31 ชั่วโมง" ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า "วูบ" กะทันหันเรื่องนี้ พ.ต.อ.ม.ล.สันธิกร วรวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันรถโดยสารสาธารณะมีกฎหมายกำหนดให้ต้องติดตั้งระบบติดตามด้วยสัญญาณดาวเทียม (GPS) ที่แสดงผลตามเวลาจริง (Real Time) ดังนั้นสามารถควบคุมพฤติกรรมผู้ขับขี่ได้ อาทิ การใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการขับขี่เกินเวลา โดยมี การทำงานประสานกันระหว่างตำรวจทางหลวงกับ กรมการขนส่งทางบก อยู่ตลอด"รถสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถบัสหรือรถตู้ก็ตาม จะต้องใช้ใบขับขี่ที่เป็นสมาร์ทการ์ด เป็นการแสดงตัวตน ฉะนั้นเราจะรู้ อย่างตามกฎหมายให้วิ่งได้ 4 ชั่วโมง พักครึ่งชั่วโมง แล้วก็วิ่งได้อีก 4 ชั่วโมง ก็คือวันหนึ่งวิ่งได้สูงสุด 8 ชั่วโมง ฉะนั้นการจะซ้ำวนรอบเหมือนสมัยก่อนต้องทำไม่ได้ เพราะข้อมูลมันจะฟ้องหมดเลย ทางกรมการขนส่งทางบกเขาดูให้อยู่แล้ว ในส่วนของตำรวจทางหลวง พอขนส่งแจ้งว่ามีรถโดยสารวิ่งเร็วเกินกฎหมายกำหนด เช่น เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ดูแล้วไม่ใช่การเร่งแซง ก็จะแจ้งมาให้ตำรวจทางหลวงสกัดจับ" พ.ต.อ.ม.ล.สันธิกร กล่าว
หรือการ "ขับขี่โดยไม่ชินกับสภาพเส้นทาง"ในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ อรรณพ หาญกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ได้กำชับไปยัง ผู้ประกอบการทุกราย ขอให้ใช้พนักงานขับรถที่มีความชำนาญในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พื้นที่ภูเขาลาดชัน เพราะหากใช้พนักงานขับรถที่ไม่มีประสบการณ์ในเส้นทางดังกล่าว เมื่อเกิดสถานการณ์คับขันอาจไม่สามารถควบคุมรถอย่างปลอดภัยได้ ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการใช้ GPS ตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่โดยทางกรมการขนส่งทางบกอีกชั้นหนึ่ง
อีกด้านหนึ่ง "ถนน" ก็เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้เช่นกัน รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า เคยได้รับการร้องเรียนจากประชาชน กรณีถนนบางสาย "ต้นไม้ข้างทางกิ่งก้านล้ำเข้ามาในถนน" ซึ่งเมื่อรวมกับผู้ขับขี่ที่ไม่ชำนาญเส้นทาง โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุก็ยิ่งมากจากการหักหลบกะทันหัน เรื่องนี้ต้องฝากให้ กรมทางหลวง ช่วยดูแลด้วย อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาคงไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมหากไม่ได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคงไม่ใช่อยู่ที่การเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงอย่างเดียว แต่เป็นการ "บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเสมอภาคเท่าเทียม" ดังที่ อารักษ์ พรประภา ผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการ รถจักรยานยนต์ไทย ให้ความเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า "กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ไม่อะลุ้มอล่วย ไม่ใช่พอโดนจับ มีโทรศัพท์เข้ามา มีท่านผู้ใหญ่มาบอกว่าขอฝากหน่อยก็ปล่อยไป อันนี้ก็มีมาเยอะ ผมก็จำที่เขาพูดมา บอกว่ากฎหมายใช้ได้กับคนจน คนรวยบางคนชนคนตายไปอยู่เมืองนอกโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี"
ข้อมูลจากแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) อ้างอิงสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ใบมรณบัตรโดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) และการขอใช้สิทธิประกันชีวิตโดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ระบุว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเมืองไทยทั้งสิ้น 22,356 ศพ สูงกว่าปี 2558 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19,479 ศพ โดย จ.ระยอง มีผู้เสียชีวิต มากที่สุด 72.2 คน ต่อสัดส่วนประชากร 1 แสนคน