“ไม่ตรวจสุขภาพ” เป็นภัยเงียบคร่าชีวิตขณะ “ออกกำลังกาย” ได้
ที่มา : MGR Online
อธิบดีกรมอนามัยยัน "ออกกำลังกาย" ดีต่อสุขภาพ ห่วงคนไทยจำนวนมากคิดว่าตัวเองแข็งแรง ไม่ไปตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ ทำให้ไม่รู้ความเสี่ยงร่างกาย เป็นภัยเงียบคร่าชีวิตขณะ "ออกกำลังกาย" ได้ แนะประเมินร่างกายช่วยรู้ความเสี่ยง เลือกวิธีออกกลังกายเหมาะสมได้ ด้าน ผู้เชี่ยวชาญออกกำลังกายแนะพูดจาติดขัดหลังออกกำลังกาย 5-6 นาที ควรหยุดพัก
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึง กรณีนายประเมิน ไกรรส ผู้อำนวยการเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกกำลังกายและหมดสติเสียชีวิต ว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายที่พอเพียงเป็นสิ่งดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ "วิธีออกกำลังกาย" หรือ "การหากิจกรรมทางกาย" ที่เหมาะสมกับตนเอง ดังนั้น จึงต้องมีการประเมินร่างกายตัวเองก่อนว่ามีความเข้มแข็งเพียงใด โดยประเมินได้จาก อายุ โรคภัยไข้เจ็บและความเสี่ยงของร่างกาย เช่น หากอายุมากร่างกายก็จะเสื่อมตามลำดับ ความเสี่ยงก็จะมากขึ้น ภัยเงียบมีเยอะขึ้น โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง นำมาสู่หลอดเลือดหัวใจอุดตัน รวมถึงความเสี่ยงอื่นอีก เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นต้น ถ้ารู้ว่าร่างกายมีความเสี่ยงก็จะประเมินได้ว่าควรออกกำลังกายแค่ไหน หนักเบาถี่ห่างอย่างไร
"วิธีที่ดีที่สุดคือมีการตรวจสุขภาพเพื่อให้รู้ความเสี่ยงของร่างกายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งแพทย์ก็จะช่วยแนะนำได้ว่าควรออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายอย่างไร แต่ปัญหาคือส่วนใหญ่คนไทยมักไม่ประเมินตนเอง หรือไปตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ไม่รู้ความเสี่ยงของร่างกายตัวเอง หรือไม่ทราบวามีโรคภัยซ่อนอยู่ ซึ่งหลายๆ คนมีความคิดว่าตัวเองแข็งแรงดี สามารถออกกำลังกายได้ ทั้งนี้ หลักการคร่าวๆ ในการเลือกวิธีการออกกำลังกายคือ หากมีอายุมาก ความเสี่ยงและโรคภัยไข้เจ็บมีเยอะ ควรเลือกกิจรรมทางกายมากกว่าการออกกำลังกาย หรือเลือกการออกกำลังกายเบาๆ ที่ได้อากาศเยอะๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้หัวใจและอวัยวะต่างๆ แข็งแรงขึ้น เช่น เดินเร็ว หรือออกกำลังกายแบบแอโรบิกเอกเซอร์ไซด์ ที่ทำให้มีการหายใจได้ต่อเนื่อง แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ที่ต้องมีการหยุดเพื่อหายใจเป็นช่วงๆ เช่น การวิ่ง ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส หรือแบดมินตัน เป็นต้น" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวว่า เมื่อเลือกวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมแล้ว สิ่งที่คนมักละเลยคือ การไม่อบอุ่นร่างกายหรือการวอร์มร่างกาย ซึ่งการวอร์มร่างกายจะช่วยให้รู้ตัวเองว่าพร้อมที่จะออกกำลังกายต่อหรือไม่ หากมีอาการเหนื่อย ใจเต้นแรง พูดเสียงผ่าวก็จะรู้ว่าไม่พร้อมที่ออกกำลังกายต่อไป และระหว่างออกกำลังกายก็ต้องสังเกตอาการตัวเองด้วยคือ เหนื่อย ใจสั่น พูดติดขัดขาดเป็นช่วงๆ ควรชะลอการออกกำลังกายหรือพัก รวมถึงต้องไม่ลืมการคลายความอบอุ่นหรือคูลดาวน์ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวสู่สมดุลเดิมด้วย
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องการออกกำลังกายและเสียชีวิต ปกติไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก คาดว่าคงเป็นจังหวะพอดีของร่างกายที่อาจพักผ่อนน้อย หรือมีภาวะเหนื่อยล้า ประกอบกับโรคที่แสดงพอดี ทั้งนี้ ไม่อยากให้คนกังวลหรือกลัวการออกกำลังกาย โดยสามารถทดสอบร่างกายได้ขณะออกกำลังกายว่าเราเหนื่อยล้ามากเกินไป สมควรหยุดหรือไม่ ดูได้จาก ทอล์ก เทสต์ การพูดหรือเปล่งเสียง หลังผ่านการออกกำลังกายไปแล้ว 5-6 นาที หากพูดเป็นประโยคไม่ติดขัด ชัดเจน แสดงว่าร่างกายสามารถออกกำลังกายต่อไหว แต่หากพูดจาขาดเป็นช่วงๆ แสดงว่าร่างกายต้องการหยุดพัก ส่วนโรคที่ไม่ควรออกกำลังกาย อย่างรุนแรงได้แก่ หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ ยิ่งมีอาการ แน่นหน้าอก ปวดร้าวหน้าอก ไหล่ซ้าย เหมือนมีคนเอาผ้ามารัด หรือเหงื่อออกเยอะมากผิดสังเกตไม่ควรออกกำลังกาย แค่กายบริหารเล็กๆ น้อยๆ พอ สำหรับช่วงเวลาหากแดดร้อนเกินไปก็ควรขยับปรับมาออกช่วง 15.30 น. แทน