ไปเดินด้วยกันไหม?
เรื่องโดย : ปรภัต จูตระกูล Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก : คู่มือโรงเรียนรักเดิน
ภาพประกอบโดย : นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และ แฟ้มภาพ
ในอดีตเราอาจคุ้นชินกับคำว่า ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กีฬาเพื่อสุขภาพ แต่ในปัจจุบันเราต้องทำความรู้จักกับศัพท์ใหม่ นั่นคือคำว่า “กิจกรรมทางกาย” ที่นับรวมทุก ๆ กิจกรรมที่ทำให้ร่างกายเราได้เคลื่อนไหว ออกแรง ทั้งระดับเบา ปานกลาง และหนัก
จากผลสำรวจการมีกิจกรรมทางกายระดับประเทศโดยสถาบันวิจัยและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ในปี 2557 กลุ่มวัยเด็กมีกิจกรรมทางกายลดลงจากร้อยละ 67.6 ในปี 2555 เหลือร้อยละ 63.2 ในขณะที่กลุ่มวัยอื่นมีอัตราเพิ่มขึ้น
“กระแสวิ่ง และกระแสการหันมาออกกำลังกายอยู่กับวัยทำงาน แต่ในอดีตเด็กทุกคนอยากจะออกกำลังกาย เลิกเรียนแล้วไม่อยากกลับบ้าน อยากเล่นต่อ แต่ปัจจุบันเด็กอยากรีบกลับบ้านเพื่อเล่นเกม ปัญหาคือ เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เด็กรู้สึกดีกับการขยับร่างกาย” นายสาธิก ธนะทักษ์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย ในขณะที่วัยทำงานพร้อมจะจ่ายเงินจ้างโค้ช ซื้อรองเท้า เพื่อจะทำให้ตัวเองได้ขยับ แต่วัยเด็กที่ควรขยับกลับไม่ได้ขยับ โรงเรียนจึงเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นผู้นำในการสนับสนุนให้เกิดการกิจกรรมทางกายให้เกิดขึ้นกับเด็ก
กิจกรรมทางกาย หรือ Physical Activities ความหมายทางวิชาการคือ การเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งถ้าได้กระทำสม่ำเสมอจะเป็นพฤติกรรมที่สร้างเสริมสุขภาพ และมีผลต่อการป้องกันโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย แต่หากจะให้อธิบายแบบเข้าใจง่าย กิจกรรมทางกายก็คือ การขยับทุกอย่างตั้งแต่เราตื่นจนถึงเราเข้านอน หรือถ้าจะให้อธิบายให้ง่ายเข้าไปอีก กิจกรรมทางกายก็คือ “การขยับ” นั่นเอง
กิจกรรมทางกายแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ
- กิจกรรมทางกายระดับเบา เช่น การยืน การเดินในระยะทางสั้น ๆ การทำงานบ้าน
- กิจกรรมทางกายระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว การปั่นจักรยาน คือกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยปานกลาง มีระดับชีพจร 120-150 ครั้ง ระหว่างทำกิจกรรมยังสามารถพูดเป็นประโยคได้
- กิจกรรมทางกายระดับหนัก เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ การเล่นกีฬา คือการเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก มีระดับชีพจร 150 ครั้งขึ้นไป โดยที่ระหว่างทำกิจกรรมไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้
นอกจากกิจกรรมทั้ง 3 ระดับแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานต่ำทีเรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” (Sedentary Behavior ) เช่น การเล่นโทรศัพท์มือถือ การใช้คอมพิวเตอร์ การนั่งคุยกับเพื่อน การนั่งหรือนอนดูโทรทัศน์ ที่ไม่รวมการนอนหลับ ซึ่งพฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลกระทบต่อเด็กไทยและมีการคาดการณ์ว่า ในอีก 3 ปี ข้างหน้า จะมีเด็กไทยถึง 1 ใน 5 ที่อยู่ในภาวะอ้วน
เด็กที่เป็นโรคอ้วน นอกจากจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากกว่าเด็กปกติ ยังมีผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นการเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับเด็กที่โรงเรียนจึงเป็นการดี เพราะมีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็ก เพียงสอดแทรกการเคลื่อนไหวในช่วงสั้น ๆ เพียง 3-5 นาที ก่อนเริ่มเรียน หรือระหว่างชั่วโมงเรียน หรือช่วงพักเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียนและมีการจดจำที่ดีขึ้น
การส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายอย่างง่าย ๆ แต่ทำเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัย ซึ่ง “โรงเรียน” เป็นหน่วยงานที่เกื้อหนุนในการปลูกฝังทัศนคติและพฤติกรรมที่ดีในการดำเนินชีวิตให้กับเด็ก “กิจกรรมรักเดิน” จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่โรงเรียนสามารถนำไปใช้เพื่อช่วยลดปัญหาที่เกิดจากความเนือยนิ่งของเด็กไทยได้เป็นอย่างดี
เมื่อปี 2557 สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ได้สนับสนุนให้มีการจัดโครงการ “โรงเรียนรักเดินสะสมก้าว ประเทศไทย” และจัดกิจกรรม “โรงเรียนรักเดิน” เพื่อใช้เป็นงานต้นแบบส่งเสริมให้นักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดเป็นต้นแบบโรงเรียนรักเดินจำนวน 16 โรงเรียน ภายหลังกิจกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้น ได้มีการจัดทำ “คู่มือกิจกรรมโรงเรียนรักเดิน” เป็นแนวทางให้แก่โรงเรียนอื่น ๆ เพื่อสร้างกิจกรรมภายในโรงเรียนตามความเหมาะสม ภายใต้บริบทของพื้นที่ รวมถึงรณรงค์ให้เยาวชนมีความเข้าใจ เกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำกิจกรรมทางกายเพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดีให้กับตนเอง ชุมชน และประเทศต่อไป
สำหรับคู่มือกิจกรรม “โรงเรียนรักเดิน” ประกอบไปด้วย 7 ขั้นตอนที่มีเป้าหมายให้นักเรียนเพิ่มกิจกรรมทางกาย โดยในแต่ละขั้นตอนจะประกอบไปด้วยเนื้อหา แนวทาง กระบวนการ กิจกรรม รวมไปถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่จะทำให้โครงการรักเดินในโรงเรียนสามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องและสำเร็จอย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตามรูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ เป็นเพียงแนวทางที่คุณครูจะต้องนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับการบริหารและสภาพแวดล้อมของโรงเรียน โดย 7 ขั้นตอนสู่การเป็นโรงเรียนรักเดินมีดังนี้
- นำเสนอแผนงานกับผู้บริหาร
- การจัดตั้งและบริหารทีมงาน
- การออกแบบกิจกรรมโรงเรียนรักเดิน
- สื่อประชาสัมพันธ์และการรณรงค์
- ลงมือปฏิบัติการ Step by Step
- การติดตามผล และประเมินโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปรับปรุง
- การประเมินโครงการ
ตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในระหว่างเปลี่ยนคาบเรียนภายในห้องมีดังนี้
กิจกรรมรักษาความสะอาด (Keep it Clean)
- ยกเก้าอี้ไปไว้ด้านข้าง ๆ ห้อง แล้วจินตนาการว่ามีเส้นอยู่ตรงกลางห้อง
- นำวัตถุนิ่ม ๆ เช่น บอลฟองน้ำ กระดาษใช้แล้วขยำเป็นก้อนกลม ให้นักเรียนถือไว้ขว้าง
- แบ่งนักเรียนเป็นสองฝั่ง ให้นักเรียนเริ่มต้นขว้างข้ามเส้นกลางห้อง เป้าหมายคือ ขว้างออกไปยังด้านตรงข้าม
- เมื่อครู่สั่งว่า “หมดเวลา” ฝ่ายที่สะอาดที่สุด (มีขยะน้อยกว่า) เป็นฝ่ายชนะ แต่ละครั้งใช้เวลา 2-3 นาที
กิจกรรมเขียนชื่อนักเรียน (Write Your Name)
- สมมติให้นิ้วชี้เป็นปากกาหรือดินสอ ให้นักเรียนเขียนชื่อตัวใหญ่ ๆ ในอากาศ
- ใช้อวัยวะส่วนอื่นแทนปากกาหรือดินสอบ้าง เช่น ข้อศอก หัวเข่า หัวแม่เท้า เอว สะโพก ก้น ศีรษะ อย่าลืมว่าต้องเปลี่ยนข้างกันบ้าง
กิจกรรมสัญชาตญาณสัตว์ (Animal Instincts)
เรียกนักเรียนออกมาคนหนึ่ง ให้ขานชื่อสัตว์แล้วให้เพื่อนทำท่าทางการเคลื่อนไหวของสัตว์ชนิดนั้น ให้นักเรียนเปลี่ยนกันเป็นผู้นำไปรอบ ๆ ห้อง จนกว่านักเรียนทุกคนได้ขานชื่อสัตว์ครบทุกคน
การมีกิจกรรมทางกายต้องเริ่มจากวัยเด็กสู่ทุกช่วงวัย เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงยั่งยืน และห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สสส.ได้จัดอบรมเทคนิคการจัดกิจกรรม "โรงเรียนรักเดิน" สำหรับโรงเรียนที่สนใจ พร้อมเปิดตัว "คู่มือโรงเรียนรักเดิน" ซึ่งนำเสนอแนวทางและเทคนิคในการออกแบบและส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันสำหรับนักเรียน ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ feelfitd.com