“ไบโอดีเซล” จากเมล็ดทานตะวันที่ “บ้านอมลอง”
พึ่งพาตนเองด้วย “พลังงานทางเลือก” อย่างพอเพียง
“น้ำมันดีเซล” เป็นพลังงานที่สำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรจะได้รับผลกระทบอย่างมากเมื่อเกิดสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทั้งจากน้ำมันแพงและผลผลิตราคาตกต่ำซ้ำเติม ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ศูนย์วิจัยและบริการไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยนอร์ท–เชียงใหม่ ได้มีแนวคิดว่าถ้าหากให้ชุมชนสามารถปลูกพืชน้ำมันแล้วนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อใช้เองภายในชุมชน ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในด้านพลังงานทดแทน จึงได้ทำ “การศึกษาการผลิตไบโอดีเซล (b100) จากพืชทานตะวัน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเชิงบูรณาการ” เพื่อที่จะทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยโครงการนี้ได้เลือกใช้ “ทานตะวัน” เป็นพืชน้ำมันตัวอย่างของการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ 2 หมู่บ้านคือ บ้านอมลอง ต.แม่สาบ และ บ้านแม่โต๋ ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ อย่างครบวงจรทั้งการปลูก ผลิต แปรรูป ทดลอง และการนำไปใช้งาน ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในท้องถิ่นโดยชุมชนมีส่วนร่วม โดยร่วมกับ “วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม” ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชาวบ้าน ด้วยการนำ “พลังงานทางเลือก” มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะปลูกจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนแนวคิดในการดำรงชีวิต โดยหันมาพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นในชุมชน
พระสรยุทธ ชยปญฺโญ รักษาการเจ้าอาวาส วัดพระบรมธาตุฯ เปิดเผยว่าที่ผ่านมาชาวบ้านมีมิจฉาทิฐิหรือความเห็นผิดในการประกอบอาชีพ ด้วยความอยากมี อยากได้ อยากเป็นไปตามกระแสของโลก ก่อให้เกิดภาระหนี้สินมากมายกลายเป็นทุกข์ โดยไม่ได้มองว่าเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร ดังนั้นการถ่ายทอดหรือว่าอบรมสั่งสอนญาติโยมจะให้มานั่งอยู่บนกัณฑ์เทศน์ใช้ไม่ได้แล้วเพราะมันมองไม่เห็นภาพ จึงต้องลงมือทำให้เห็นจริงในทุกๆ เรื่องทั้งทำทั้งปุ๋ยหมัก ฝายกั้นน้ำในป่า ทำการเกษตรแบบพอเพียง ฯลฯ
“ที่วัดเรานำเอาเรื่องชีวิตจริงของเขามาผูกโยงไว้กับธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไบโอดีเซล ก็พยายามให้เขาเห็นถึงการพึ่งตัวเอง อยากใช้เท่าไหร่ก็ปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาเท่านั้น ไม่ต้องทำใหญ่โตหรือคิดเพื่อขาย ทำเก็บไว้ใช้แบ่งปันกัน ถ้าทุกคนในชุมชนปลูกและผลิตน้ำมันได้อย่างน้อยคนละ 150 ลิตร 100 คนก็เท่ากับ 1,500 ลิตร ประหยัดเงินไปได้มาก โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย อย่าไปคิดว่ามันขายไม่ได้เลยไม่สนใจ ให้คิดว่าทำเพื่อใช้เอง ซึ่งวัดจะเน้นในเรื่องของการพึ่งพาตนเองของชุมชนในท้องถิ่น โดยให้ตระหนักเห็นในเรื่องของจิตใจก่อน คือผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองก่อน อย่างคิดผลิตเพื่อขาย เพราะชีวิตของคนเราเกิดมาก่อนจะตายไม่ได้มาเพื่อร่ำรวยและเสพย์สุข เกิดมาเพื่ออยู่ได้เอื้อเฟื้อแบ่งบันมีความสุขร่วมกันกับผู้อื่นๆ เปลี่ยนวิธีคิดทั้งหมดของชาวบ้านทำให้ชุมชนเริ่มเปลี่ยน ตอนนี้ก็จะมีของมาแจกกัน ทำให้จิตใจญาติโยมที่แต่ก่อนเคยอยากได้อยากมีตอนนี้มันเริ่มเปลี่ยนหันมาพึ่งพากันเอื้อเฟื้อกันเพิ่มขึ้น” พระนักพัฒนาระบุ
ดร.สุรพล ดำรงกิตติคุณ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท–เชียงใหม่ หัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าวถึงการนำพืชทานตะวันมาผลิตไบโอดีเซลว่า เริ่มจากเห็นว่าชาวบ้านมีภาระหนี้สิน มีค่าใช้จ่ายสูง น้ำมันบนดอยราคาแพง แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้ ดั้งนั้นการที่ชุมชนจะผลิตน้ำมันไบโอดีเซลใช้เองนั้นมีโอกาสเป็นไปได้สูง และทานตะวันเป็นพืชที่มีความหนืดของน้ำมันไม่สูงเท่ากับพืชชนิดอื่น และจับตัวเป็นไขได้ยากจึงน่าจะเหมาะสมกับสภาพอากาศของภาคเหนือ จึงได้นำเรื่องนี้เข้ามาแก้ปัญหาเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“การผลิตไบโอดีเซลนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะผลักให้กลุ่มชาวบ้านเข้มแข็ง เราทำงานวิจัยเล็กๆ ที่อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่การปลูก จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว แล้วเราก็มองว่าการใช้น้ำมันบนดอยอาจจะมีวิธีการที่มากกว่าการใช้สารเคมีไปบำบัดเพื่อให้น้ำมันใสขึ้น เราก็เปลี่ยนมาใช้น้ำกล้วยต้มแทนเพื่อที่จะทำให้น้ำมันใสขึ้นแทน ซึ่งเป็นจุดที่เราเริ่มเห็นว่ามันอาจจะมีความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ เพราะว่าทานตะวันเป็นพืชระยะสั้นปลูกเพียง 3 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้ สามารถปลูกหัวไร่ปลายนาได้ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว และดอกทานตะวันก็มีความสวยงาม ทำให้เด็กๆ ก็ชอบที่จะเข้ามีส่วนร่วม ในขณะเดียวกัน เราก็รวบรวมพืชพลังงานในท้องถิ่นอื่นๆ มาศึกษาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างงานให้ชุมชน” หัวหน้าคณะผู้วิจัยกล่าว
ปัจจุบันคณะผู้วิจัยฯ ร่วมกับนักศึกษาพัฒนาเครื่องหีบน้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน จนสามารถใช้การได้ดีในระดับท้องถิ่น และนำกลับขึ้นไปติดตั้งยังศูนย์เรียนรู้ของชุมชน โดยจากการศึกษาในปีที่ผ่านมามีชาวบ้านที่ร่วมปลูกทานตะวันกับโครงการฯ ทั้งหมด 24 ไร่ ได้เมล็ดทานตะวันเฉลี่ยประมาณ 171-200 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเมล็ดทานตะวัน 22 กิโลกรัม จะผลิตน้ำมันได้ประมาณ 7.3 ลิตร ซึ่งน้ำมันที่ได้ถูกนำมาทดสอบและทดลองใช้งานร่วมกับชุมชน เช่นรถไถใหญ่และเครื่องสูบน้ำโดยไม่พบปัญหาในการใช้งาน นอกจากนี้ยังได้นำรถ 6 ล้อของมหาวิทยาลัยฯ มาทดลองขับจากบนดอยไปจนถึง จ.ฉะเชิงเทรา ก็ไม่พบปัญหาในการใช้งานเช่นกัน
นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวว่าการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกเป็นเรื่องที่สังคมเริ่มตระหนักกันมากขึ้นเพราะมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
“ถ้าชุมชนนำพลังงานทางเลือกมาใช้ ก็จะทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะชุมชนที่ห่างไกล ส่งผลให้ชุมชนสามารถดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพอยู่บนพื้นฐานของหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนยังมีทางเลือกของพลังงานในด้านอื่นๆ ซึ่งจะทำให้สามารถพึ่งตนเอง เกิดความต่อเนื่อง และยั่งยืนขึ้นในชุมชน” ผู้อำนวยการสำนักฯ ระบุ
“เรื่องของน้ำมันไบโอดีเซลเป็นจุดหนึ่งที่เรานำมาเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้าน ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเขาต้องลองทำเอง ใช้เอง และเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าการนำไปขาย ที่ต้องมีจุดคุ้มทุนซึ่งเป็นเรื่องของการค้า ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้นความยั่งยืนจึงต้องอยู่ที่จิตใจ จากจิตสำนึกที่ได้รู้ ได้เห็น และได้ทำ ซึ่งเป็นหลักของเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่าด้วยการเข้าถึงและเข้าใจนั่นเอง” อ.สุรพลกล่าวสรุป
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
update 14-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด