“ไทเทยิ่น” ต้นแบบผู้สูงอายุ รวมพลังสร้างสังคมสุขภาวะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากคมชัดลึก
ชุมชน "ไทเทยิ่น" รวมพลังสร้างสังคมสุขภาวะ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 20 ชมรมต้นแบบของชมรมผู้สูงอายุ ในการพัฒนาศักยภาพชมรมผู้สุงอายุ "4 ภาค 20 ชมรมต้นแบบ"
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปประมาณ 7.4 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 17.7 ล้านคน หมายความว่าในอนาคตอีกไม่ใกล้ไม่ไกลนับจากนี้ไป สังคมไทยจะเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วม ผลักดันให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพปัญญา อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและลุกขึ้นมาทำกิจกรรมได้เฉกเช่นวัยหนุ่มสาว ให้สังคมรู้ถึงคุณค่าและพลังของคนวัยชราว่ามีมากกว่า "ไม้ใกล้ฝั่ง"
หมู่บ้านไทยเทยิ่นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มี 50 หลังคาเรือน ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ซอย 80 เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เป็นหมู่บ้านสวัสดิการของพนักงานบริษัท ไทเทยิ่น ตั้งแต่ปี 2513 โดยผู้อยู่อาศัยต่างรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน และขึ้นทะเบียนจัดตั้งเป็นชุมชนเมื่อปี 2549 ต่อมาปี 2550 มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้น โดยมี นายสมพร พะยอมใหม่ เป็นประธาน และปัจจุบันมีสมาชิก 76 คน
นายสมพร พะยอมใหม่ เล่าว่า เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นภาวะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็เริ่มเข้ามาเบียดเบียนซึ่งเป็นไปตามวัย ชมรมคิดกันว่าทำอย่างไรจะทำให้ผู้สูงอายุมีร่างกายแข็งแรงไปได้ยืนยาวที่สุด และจากการหารือได้คำตอบว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้ผู้สูงอายุคงสภาพการมีสุขภาพที่ดี เป็นการป้องกันจากโรคภัยได้และที่สำคัญเป็นกิจกรรมที่จะทำให้ผู้สูงอายุได้พบปะพูดคุยกัน อันจะส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดีตามไปด้วย จึงขอทุนจาก สสส.ครั้งแรก เมื่อปี 2552 เพื่อจัดทำโครงการ "การสร้างเสริมสุขภาพ" ด้วยการออกกำลังกายด้วย ไม้พลองและยางยืด
เมื่อโครงการแรกดำเนินไปได้จึงนำมาสู่ประเด็นสุขภาพในเชิงลึกและนำมาสู่การขอทุน สสส. เพื่อทำโครงการ "สุขภาวะจิตแจ่มใส สุขภาวะกายแข็งแรง" ในปี 2553 โดยมีกิจกรรม ได้แก่ อบรมแกนนำเพื่อสร้างเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน เสริมสร้างโภชนาการกับการไร้พุง ส่งเสริมการออกกำลังกายและรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะชุมชนโดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ และปี 2554 ทำโครงการ "พืชผักสมุนไพร-วัยชรา-ใฝ่หาธรรมะ" โดยมี 2 กิจกรรม ได้แก่ ส่งเสริมการดูแลผู้สูงวัยด้วยสมุนไพรและศีล สมาธิ ปัญญา ต่อมาปี 2557 ขอทุนทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการทำเกษตรอินทรีย์แบบเศรษฐกิจพอเพียงและทำหัวน้ำเชื้อจุลินทรีย์ชีวภาพ และปี 2558 ต่อเนื่องปี 2559 ทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยชมรมผู้สูงอายุระดับชุมชนซึ่งมี 3 กิจกรรม ได้แก่ ส่งเสริมการออกกำลังกายสร้างเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุและอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.)
นอกจากนี้ชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านไทเทยิ่น ยังทำกองทุนสงเคราะห์ โดยมีคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้รับผิดชอบ ทำหน้าที่คราวละ 2 ปี เพื่อหางบประมาณในการบริหารจัดการและเป็นสวัสดิการสมาชิก โดยเก็บคนละ 50 บาทต่อเดือน ซึ่งทุกๆ เดือนจะประชุมเพื่อพบปะสังสรรค์สมาชิกโดยให้ทุกคนทำกับข้าวมาจากบ้านแล้วมากินด้วยกัน ซึ่งช่วยหล่อหลอมให้เกิดความรักใคร่สามัคคีกัน ขณะที่กิจกรรมอื่นๆ ที่ทำเป็นประจำคือการร่วมงานประเพณีและเทศกาลต่างๆ ทั้งร่วมกันออกกำลังกาย เช่น เต้นแอโรบิก ลีลาศ ปั่นจักรยาน สัปดาห์ละ 6 วัน ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและจัดเก็บน้ำมันพืชที่ใช้แล้วในครัวเรือนเพื่อเอาไปขายนำเงินเข้ากองทุน
ชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านไทเทยิ่น เป็นตัวอย่างหนึ่งของการรวมพลังของผู้สูงอายุเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืนจนเป็นที่ยอมรับทั่วประเทศ และได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 20 ชมรมต้นแบบของชมรมผู้สูงอายุที่มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพชมรมผู้สุงอายุ "4 ภาค 20 ชมรมต้นแบบ"
ขณะที่นายจรัส ทรัพย์มูล นายทะเบียนชมรม ผู้สูงอายุหมู่บ้านไทเทยิ่น กล่าวว่า เมื่อปี 2557-2558 สสส.ค้นหาชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็งที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อให้เป็น ชมรมต้นแบบให้ชมรมต่างๆ มาศึกษาเรียนรู้ ซึ่ง ชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านไทเทยิ่นได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 20 ชมรมต้นแบบครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานของชมรมที่มีผลงานสำเร็จอย่างเป็น รูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้คณะวิทยาศาสตร์และการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็คัดเลือกชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านไทเทยิ่น เป็นพื้นที่ตัวอย่างให้นักศึกษาดูงาน สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กระทรวงพัฒนาการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ส่งเสริมการฝึกอาชีพเสริมให้สมาชิกของชมรม ขณะเดียวกันแกนนำของชมรมยังได้รับเกียรติเป็นวิทยากรให้แก่ชมรมผู้สูงอายุกลุ่มเขตที่ 3 และชมรมอื่นๆ ด้วย
"แม้ผู้สูงอายุที่นี่จะเคยเป็นพนักงานบริษัทเดียวกันมาก่อนเจอกันก็จริง แต่ก็เหมือนต่างคนต่างอยู่ไม่ได้ทักทายปราศรัยกัน แต่หลังจากมีกิจกรรมก็ได้เจอกันบ่อยขึ้น คนเก็บตัวก็เริ่มออกมา แม้ว่าหลายโครงการจะสิ้นสุดการดำเนินงานแล้ว แต่กิจกรรมหลายอย่างยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การดูแลลำคลองด้วยการจัดทำน้ำหมักชีวภาพเทลงคลองอย่างน้อยเดือนละครั้ง การปลูกพืชผักสมุนไพรในครัวเรือน การจัดกิจกรรมด้านธรรมะ" นายทะเบียนชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านไทเทยิ่น กล่าว
เมื่อถามถึงความสำเร็จของชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านไทเทยิ่น นายจรัส บอกว่า น่าจะมาจากการทำงานที่โปร่งใส มีกิจกรรมต่อเนื่อง มองเห็นเป็นรูปธรรม ทำให้สมาชิกเกิดความสามัคคีเป็นใจเดียวกัน เวลามีจัดอบรมหรือกิจกรรมจะมีสมาชิกมาร่วมจนเกินจำนวนเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกครั้ง พร้อมกันนี้ชมรมยังเป็นแกนหลักของการขับเคลื่อนชุมชนในด้านต่างๆ อีกด้วย
"สมาชิกต้องเสียสละ เพราะบางครั้งเราใช้หัวใจทำงาน ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยตัวเงินไปเสียหมด เพราะถ้าพูดเป็นตัวเงินไปเก็บเงินบ่อยๆ สมาชิกคงไม่ชอบ เช่น การประชุมประจำเดือนที่ให้สมาชิกทำกับข้าวมาคนละอย่างแล้วเอามากินด้วยกัน ถ้าบอกว่าขอเก็บเงินคนละ 100 บาท เพื่อนำมาจัดงาน มันก็จะรู้สึกไม่ดีถ้าพูดเป็นตัวเงิน แต่บอกว่าให้ทำกับข้าวมานะ เราไม่เก็บเงิน ภาพมันดูดีกว่า ทั้งๆ ที่ค่าทำกับข้าวอาจเกิน 100 บาทได้ แต่ทุกคนก็ให้ได้อย่างเต็มใจ มันเป็นความรู้สึกคนละอย่างเลย การบริหารจัดการชมรมก็เช่นกัน ต้องมีวิธีจัดการทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้สมาชิกอยู่แล้วอุ่นใจ สุขใจ ชมรมก็จะเข้มแข็งยืนยาว" นายจรัส กล่าว
ทุกวันนี้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านไทเทยิ่นถือเป็นกลุ่มคนแก่ที่มีคุณภาพชีวิตดีกว่าหลายๆ ชุมชน จนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบที่หลายๆ ชุมชนต่างเข้าไปศึกษา ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมกลุ่มช่วยกันทำงานอย่างแข็งขันตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานั่นเอง
หากไม่มีชมรมผู้สูงอายุ คนแก่หมู่บ้านไทเทยิ่นคงกลายเป็นคนชราที่รอการกลับบ้านของลูกหลานไปวันๆ เป็นแน่แท้