ไทยเจ้าภาพจัด “มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก” ครั้ง 11

ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัด “มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก” 29 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อถ่ายทอดความสามารถพิเศษด้านดนตรีของผู้พิการจากกว่า 10 ประเทศสมาชิก หวังสร้างความสุข ความบันเทิง และแรงบันดาลใจให้ผู้ชม


ไทยเจ้าภาพจัด "มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก" ครั้ง 11


เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก” ครั้งที่ 11 โดย พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) กล่าวว่า สสพ. ซึ่งเป็นสถาบันความร่วมมือระหว่าง สสส. กับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในโอกาสที่ประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ “ยิ้มสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน” ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ ที่โรงละครแห่งชาติ จะเป็นการเปิดเวทีให้คนพิการได้มีโอกาสแสดงศักยภาพและความสามารถด้านดนตรีออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งยังได้สร้างการเรียนรู้ถึงการมีส่วนร่วมของคนพิการในการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรม ทั้งในสังคมไทย และสังคมเอเชีย-แปซิฟิกอีกด้วย


“กิจกรรมครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเตรียมตัวสู่การเป็น Inclusive world ที่เริ่มต้นและขับเคลื่อนโดยคนพิการ ซึ่ง สสพ. และ สสส. มีความภูมิใจที่จะได้นำเสนอผลงานของเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ ในงานมหกรรมฯ ครั้งนี้ เพื่อสร้างความสุขควบคู่ไปกับการเรียนรู้ถึงคุณค่าของทั้งดนตรี และคุณค่ามนุษย์ทุกคน” ผู้อำนวยการ สสพ. กล่าว


ไทยเจ้าภาพจัด "มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก" ครั้ง 11


ด้าน ดร.ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวถึงความเป็นมาของเครือข่ายวาตาโบชิว่า ก่อตั้งขึ้นโดย คุณฮาริมะ ยาสุโอะ อดีตนักข่าวที่ต้องการช่วยเหลือคนพิการในประเทศญี่ปุ่นที่มีเป็นจำนวนมาก โดยได้เปรียบคนพิการเหมือนปุยเกสรของดอก Dandelion (หรือ “ทันโปโป” ในภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งเรียกว่า “วาตาโบชิ” เมื่อปลิวไปตกที่ใดก็จะเติบโต งอกงาม สร้างความงดงามแก่ผืนแผ่นดินได้ ต่อมาในปี 2534 สิงคโปร์ ได้จัดงาน มหกรรมดนตรีวาตาโบชิเอเชีย (Asia Wataboshi Music Festival) ขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้น ก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนประเทศอื่นๆ เป็นเจ้าภาพทุกๆ 2 ปี และขยายกว้างออกไปจนเกิดเป็น “มหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก”


“สำหรับประเทศไทย ได้ส่งตัวแทนคนพิการเข้าร่วมตั้งแต่ครั้งแรกโดยมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ (มพก.) และเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งที่ 4 ปี 2540 จนกระทั่งได้สนับสนุนให้เกิด “เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ” ขึ้นในปี 2549 เพื่อเป็นตัวแทนขับเคลื่อนและสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้แก่คนพิการที่รักในงานศิลปะและดนตรีในประเทศไทย สำหรับปีนี้ มีเมืองสมาชิกวาตาโบชิต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วมงานกว่า 10 เมือง ได้แก่ Brisbane, Ho Chi Minh, Hong Kong, Jakarta, Johor Bahru, Kaohsiung, Manila, Nara, Seoul, Shanghai, Singapore และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งยังมีแขกรับเชิญพิเศษจากสหรัฐอเมริกาด้วย”ดร.ชัยณรงค์ กล่าว


รศ.จารุณี หงส์จารุ คณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า สำหรับงานวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ผู้เข้าร่วมงานจะอิ่มเอมกับการถ่ายทอดบทเพลงที่คนพิการประเทศต่างๆ กว่า 10 ประเทศแต่งขึ้น โดยมีไฮไลท์อยู่ในช่วงพิธีเปิด ซึ่งคนพิการจากทั่วเอเชีย-แปซิฟิก และคนพิการไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ โดยการขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” หรือ “Smile” นอกจากนี้ยังมีการแสดงพิเศษที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินที่พิการและไม่พิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก เช่น การประชันแซ็กโซโฟนระหว่างคนพิการไทย และสหรัฐอเมริกา การเล่นพิณแก้ว การแสดงดนตรีอีสานจากคนพิการ จ. ขอนแก่น การแสดงของศิลปินรับเชิญพิเศษโดยคุณกุ้ง สุทธิราชและแคต รัตตกาล ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ของงานครั้งนี้ และที่สำคัญ การแสดงของคุณพรภควา กำเนิดคำ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนพิการไทยของเราที่จะร่วมแสดงและถ่ายทอดบทเพลงร่วมกับประเทศต่างๆ ในครั้งนี้ด้วย


ด้าน คุณแหม่ม พัชริดา วัฒนา คณะกรรมการตัดสินการประกวดบทเพลงของคนพิการ กล่าวถึงการคัดเลือกตัวแทนคนพิการไทยที่เข้าร่วมมหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 11 ว่า เกณฑ์การตัดสินในครั้งนี้มีความท้าทาย เพราะจะต้องแต่งเพลงให้เข้ากับหัวข้อการจัดงาน คือ “ยิ้มสู้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน” และไม่ตอกย้ำความพิการ ซึ่งเพลง “สัมพันธภาพแห่งรอยยิ้ม” ของคุณพรภควา กำเนิดคำ จากจ.ชัยภูมิ ที่ชนะเลิศการประกวดนั้น รู้สึกประทับใจตั้งแต่ฟังครั้งแรก อาจจะเป็นเพราะช่วงนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความแตกแยกทางความคิดและไม่พยายามที่จะหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งเพลงนี้ได้พูดถึงรอยยิ้มที่มีเสน่ห์ของคนไทย จุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่จะช่วยเชื่อมประสานความแตกร้าวทางความคิดจิตใจต่างๆ เป็นด่านแรกที่จะเชื้อเชิญทุกคนให้มาอยู่ร่วมกัน รับฟังและเข้าใจกัน บวกกับสำเนียงแบบไทยๆ ทำให้คณะกรรมการมีความเห็นตรงกันว่า เพลงนี้นอกจากจะมีความสละสลวยในด้านภาษา และมีเนื้อหาตรงกับโจทย์แล้ว ยังนำเสนอความเป็นไทยต่อแขกบ้านแขกเมืองได้เป็นอย่างดี


ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกท่าน เข้าร่วมชมมหกรรมดนตรีวาตาโบชิแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 11 ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ณ โรงละครแห่งชาติ เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรราคา 500, 300 และ 100 บาท ได้ที่เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ/มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ 546 ลาดพร้าว 47 แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง กทม. 10310 หรือสอบถามโทร. 08-5337-9660 และเว็บไซต์: www.nmad2006.org


 


 


 


ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 
 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ