ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วสุดในกลุ่มอาเซียน

 

สธ. เผยไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในกลุ่มอาเซียน มีอัตราการเกิดลด ไม่สมดุลยอดสูงอายุขัย แนะมีบุตรเฉลี่ย 2 คน

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการเปิดประชุมระดับชาติ โครงการพัฒนารูปแบบบริการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงรวมทั้งกลุ่มอายุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและไทย ว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน จากรายงานการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2554 พบว่ามีประชากรสูงอายุประมาณร้อยละ 12  ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 9 ล้านคน

รมว.สธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มจากร้อยละ 10 ของประชากรสูงอายุทั้งหมดในปี 2543 เป็นร้อยละ 13 ในปี 2553 โดยอัตราเกิดของไทยลดลง หญิงวัยเจริญพันธุ์ไทยอายุ 15-49 ปี 1 คนมีบุตรเฉลี่ย 1.5 คน ทำให้โครงสร้างประชากรไทยอยู่ในสภาวะไม่สมดุล สัดส่วนระหว่างผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกับเด็กอายุ 0-14 ปี ลดลงอย่างรวดเร็วจาก 1 ต่อ 2.56 ในปี 2543 เป็น 1 ต่อ 1.49 ในปี 2553

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ในการรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทย ได้มียุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชน มี 2 มาตรการ โดยมาตรการระยะสั้นเน้นการจัดบริการการดูแลระยะยาวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่วนในระยะยาวมียุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการเพิ่มจำนวนบุตรเฉลี่ยของหญิงไทยให้สูงขึ้นจาก 1.5 เป็น 2.1 เพื่อให้โครงสร้างประชากรมีความสมดุล ลดภาระครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุ และเน้นการส่งเสริม สุขภาพกายและจิตใจของผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต ยาวนานมากขึ้น

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้อำนวยการโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า การดูแลผู้สูงอายุต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  โดยเฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องพึ่งพิง ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 1 ล้านคน มี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ต้องพึ่งพาคนอื่นเมื่อออกนอกบ้าน ร้อยละ 10 หรือประมาณ 900,000 คน และประเภทนอนติดเตียง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีร้อยละ 1 หรือประมาณ 90,000 คน ซึ่งกลุ่มนี้มักจะไม่ต้องการการดูแลทางการแพทย์ แต่ต้องการการดูแลที่ต่อเนื่องเป็นเวลานานหรือตลอดอายุขัยจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันพบว่าเป็นภาระหนักของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวขนาดเล็ก

ปลัด สธ. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้นำร่องโครงการ 6 แห่ง ได้แก่ ขอนแก่น  เชียงราย สุราษฎร์ธานี  นนทบุรี  นครราชสีมา และกรุงเทพฯ โดยเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพ และสวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ร่วมมือกับญี่ปุ่น ดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2550-2553ในพื้นที่เดิม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่กับครอบครัว ชุมชน อย่างอบอุ่นตลอดไป

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code