ไทยขาดความรู้โภชนาการ อ้วนตายปีละ 2หมื่น
ปัญหาโรคอ้วนกับคนไทยมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลล่าสุดของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบจำนวนคนไทยเป็นโรคอ้วนถึงปีละ 4 ล้านคน ติดอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไม่เพียงเท่านั้นผู้เป็นโรคอ้วนยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากโรคที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันสูง ที่มีตัวเลขของการเสียชีวิตสูงถึงปีละ 2 หมื่นคนอีกด้วย
ช่วงที่ผ่านมาทางสสส. จึงได้ร่วมกับเครือข่ายเสียงประชาชน (we voice) ทำการสำรวจสถานการณ์สุขภาพของคนไทยกับภาวะอ้วนลงพุง โดยมีผลการสำรวจที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากยังขาดความเข้าใจพื้นฐานด้านการบริโภคอาหาร และส่วนใหญ่ยังไม่พึงพอ ใจกับรูปร่างของตนเอง แต่ส่วนใหญ่ก็ยัง ไม่มีเวลาที่จะออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นได้
ประเด็นของโรคอ้วนที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นประเด็นในทางสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงมาสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับชาติ เพราะประเมินตัวเลขที่รัฐจะต้องสูญเสียต่อปีมีมากถึงแสนล้านบาท (ไม่นับรวมกับงบประมาณจากการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพอีกปีละหลายหมื่นล้านบาท) จากค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรคภัยต่างๆ ที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนลงพุง จากการเปิดเผยของ ศ.น.พ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการกำกับทิศงานสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ขณะเดียวกันทางสสส. ยังร่วมกับเครือข่ายเสียงประชาชน (we voice) จัดทำโครงการสำรวจสุขภาพและความรู้ เกี่ยวกับโภชนาการของคนไทย เพื่อสำรวจสุขภาพและความรู้ทางด้านโภชนาการ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการรณรงค์ โรคอ้วนลงพุง
สาเหตุสำคัญของปริมาณผู้ป่วยโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นมาก เป็นผลพวงของวิถีชีวิตแบบคนเมืองสมัยใหม่ ที่มีพฤติกรรมการกินอาหารไม่ครบตามหลักโภชนาการ อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารหวาน อาหารมันเพิ่มมากขึ้น การกินผักและผลไม้น้อยลง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ออกกำลังกายอีกด้วย
คนไทยดื่มน้ำอัดลมอันดับ 1
ขณะเดียวกัน ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายเสียงประชาชน ยังได้เปิดเผยถึงผลสำรวจภาวะ “คนไทยซ่อนอ้วน” สถานการณ์สุขภาพคนไทยกับภาวะอ้วนลงพุง จากการสำรวจคนไทยทั่วประเทศที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวนประมาณ 1 พันคน จาก 5 พื้นที่ทั่วประเทศ พบว่าประ เด็นที่น่าสนใจถึงพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน คือความนิยมและปริมาณการดื่มเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ที่พบว่า คนนิยมดื่มน้ำอัดลมมากที่สุด 52.5% เฉลี่ย 3 ขวด (ขวดขนาด 450 มล.) ต่อสัปดาห์ รองลงมาเป็นกาแฟสด 45.2% เฉลี่ย 4.8 แก้ว (ขนาดแก้ว 475 มล.) ต่อสัปดาห์ และอันดับ 3 เป็นนมเปรี้ยว 33.3% เฉลี่ย 3.7 ขวด (ขวดขนาด 400 มล.) เฉลี่ย 3.7 ขวดต่อสัปดาห์
การสำรวจยังสอบถามถึงความเข้าใจต่อปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่ม ประเภทต่างๆ ผู้ตอบแบบสอบถามก็เข้าใจว่าน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด ด้วยสัดส่วนผู้ตอบสูงถึง 49.6% รองลงมาเข้าใจว่าเครื่องดื่มชานมไข่มุก ด้วยสัดส่วนผู้ตอบ 11.2% และอันดับ 3 เป็นเครื่องดื่มชาเขียว ด้วยผู้ตอบสัดส่วน 10.9% แต่ในความเป็นจริงเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดอันดับ 1 ได้แก่ นมเปรี้ยว มีปริมาณน้ำตาลสูงสุด 19 ช้อนชา รองลงมาเป็นชาเขียว 14.5 ช้อนชา และอันดับ 3 ชานมไข่มุก มีปริมาณน้ำตาล 11.25 ช้อนชา
อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจดังกล่าว ทำให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า คนไทยยังมีขาดความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานด้านโภชนาการ อาทิ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การอ่านฉลากสินค้าก่อนเลือกซื้อ และปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคน้ำตาลนอกมื้ออาหารไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ที่น่าสนใจคือ มีเพียง 49.5% เท่านั้น ที่ทราบถึงปริมาณน้ำมันนอกมื้ออาหารที่บริโภคได้ คือประมาณ 1 ช้อนชา นั่นหมายความว่า กว่า 50% ของผู้ที่สำรวจ ไม่ได้คำนึง หรือระวังในการบริโภคน้ำมันต่อวันเลย
โรคอ้วนพุ่ง 24ล.คนรับเออีซี
จากผลการศึกษาของ “เฮลท์ แอนด์ เวลล์เนส 2013” ของบริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ได้ระบุถึง 8 เทรนด์สุขภาพของคนไทยในปี 2556 พบว่าความอ้วน 1 ใน 8 เทรนด์สุขภาพจะกลายเป็นปัญหาที่พบทั่วไปสำหรับคนไทยและคาดว่าปี 2558 ประเทศไทยจะมีผู้มีปัญหาความอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน จากเมื่อปี 2553 ที่มีคนอ้วน 22 ล้านคน ซึ่งจะก่อให้เกิดการขยายตัวธุรกิจทั้งใหม่และเก่าที่จะออกมารองรับกับปริมาณความต้องการลดน้ำหนักของกลุ่มคนเหล่านี้
ขณะเดียวกันจะเชื่อมโยงไปยังธุรกิจกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพจะเติบโตจาก 6.1 หมื่นล้านบาทเป็น 7.7 หมื่นล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ด้วยเพราะข้อมูลของสสส.เอง ในช่วงปลายปี 2555 พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กวัยรุ่นใช้ยาลดน้ำหนักและทำศัลยกรรมความงามเพื่อให้ผอมและดูสวยงาม
การรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วนมีมาอย่างต่อเนื่อง และมีหลายหน่วยงานที่เข้ามารณรงค์ ทั้งหน่วยงานด้านการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข, สสส. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, หรือแม้กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เคยออกมารณรงค์ให้ตำรวจไทยไร้พุงมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าภาครัฐจะเร่งรณรงค์ให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายและบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ก็คงไม่เป็นผลหากประชาชนไม่ได้ตระหนักถึงโรคภัยที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองต่อให้ใช้เงินอีกหลายแสนล้านบาทก็เปล่าประโยชน์
“คาดว่าปี 2558 ประเทศไทยจะมีผู้มีปัญหาความอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน”
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดย ธนดล ยิ่งยง