ไตวายเรื้อรัง
ที่มา: มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
ภาวะไตวาย หมายถึง ภาวะที่เนื้อไตทั้ง ๒ ข้างถูกทำลายจนทำงานไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติ ทำให้น้ำและของเสียไม่ถูกขับออกมา จึงเกิดการคั่งจนเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อดุลของสารเกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์) และความเป็นกรดด่างในเลือด รวมทั้งเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนบางชนิดที่ไตสร้าง การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้นำไปสู่ความผิดปกติของอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย
ภาวะไตวายสามารถแบ่งเป็น ไตวายเฉียบพลัน (ซึ่งมีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน และเป็นอยู่นานเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์) กับ ไตวายเรื้อรัง (ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย นานเป็นแรมเดือนแรมปี)
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่ขาดการรักษาอย่างจริงจัง อาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง ที่สำคัญได้แก่ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (ซึ่งมักไม่แสดงอาการ) นิ่วในไต โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง (polycystic kidney ซึ่งมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด และถ่ายทอดทางพันธุกรรม)
ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พาราเซตามอล และกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก) ที่ใช้รักษาอาการปวดข้อ โดยใช้ติดต่อกันทุกวันนานเป็นแรมปี ก็อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมาได้
นอกจากนี้ ยังอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น โรคเกาต์ โรคเอสแอลอี ต่อมลูกหมากโต ภาวะยูริกในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง พิษจากสารตะกั่วหรือแคดเมียม เป็นต้น
อาการ
อาการขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยในระยะแรกอาจไม่มีอาการให้สังเกตได้ชัดเจน และมักจะตรวจพบจากการตรวจเลือด (พบว่ามีระดับครีอะทินีนและบียูเอ็นสูง) ในขณะตรวจเช็กสุขภาพหรือมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น
ผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจนเมื่อเนื้อไตทั้ง ๒ ข้างถูกทำลายจนทำหน้าที่ได้น้อยกว่าร้อยละ ๑๕ ของไตปกติ โดยจะสังเกตว่ามีปัสสาวะออกมาก และปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินบ่อย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ขาดสมาธิ ตามัว ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ คันตามผิวหนัง ชาตามปลายมือปลายเท้า
บางรายอาจมีอาการหอบเหนื่อย สะอึก เป็นตะคริว ใจหวิว ใจสั่น เจ็บหน้าอก บวม หรือมีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงจ้ำเขียว หรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
เมื่อเป็นมากขึ้น จะมีอาการปัสสาวะออกน้อย
เมื่อเป็นถึงขั้นสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการซึม ชัก หมดสติ
การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของไตวาย เช่น ให้ยาควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผ่าตัดนิ่วในไต เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้าย (มักมีระดับครีอะทินีนและบียูเอ็นในเลือดสูงเกิน ๑๐ และ ๑๐๐ มก./ดล. ตามลำดับ ซึ่งไตจะทำหน้าที่ได้ต่ำกว่าร้อยละ ๑๕ ของไตปกติ) แพทย์จะทำการรักษาด้วยการล้างไต (dialysis) ซึ่งมีอยู่ ๒ วิธี ได้แก่ การล้างไตโดยการฟอกเลือด (กระทำที่สถานพยาบาลสัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง) และการล้างไตทางช่องท้อง (ซึ่งผู้ป่วยจะทำเองที่บ้านทุกวัน) ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานออกกำลังกายได้ และมีชีวิตยืนยาวขึ้น
ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเปลี่ยนไต (renal transplantation) โดยใช้ไตบริจาคจากญาติสายตรงหรือผู้บริจาคที่มีไตเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อของผู้ป่วย หลังจากปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ไซโคลสปอริน) ทุกวันตลอดไป เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านไตใหม่ วิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนหน้าที่ของไตจนเป็นปกติ สามารถมีชีวิตเช่นคนปกติได้
การป้องกัน
๑. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
๒. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
๓. ถ้าเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ หรือนิ่วในไต ควรรักษาอย่างจริงจัง จนสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดีอย่างต่อเนื่อง
๔. เมื่อเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ) หรือมีภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ (เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต) จะต้องได้รับการรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง
๕. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อไต ที่สำคัญคือ อย่ากินยาแก้ปวดหรือยาแก้ปวดข้อติดต่อกันนานๆ