ได้เวลาแอนิเมชัน…นวัตกรรมสอนสุขนิสัย
สนับสนุนโดย สสส.
เพราะการปลูกฝังเรื่องสุขภาวะที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนเป็นงานยากมาทุกยุคสมัย เด็กนักเรียนในหลายโรงเรียนจึงมักประสบกับปัญหาสุขภาวะในด้านต่างๆ เช่น ฟันผุ โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เหา รวมถึงการรักษาความสะอาดส่วนรวม การเรียนการสอนในวิชาสุขศึกษาแบบเดิมๆ ที่เน้นการท่องจำคงไม่เหมาะกับการสร้างสุขนิสัยที่ดีให้กับเด็ก คำถามในวันนี้จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเด็กจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาให้ รศ.ดร.พรรณี บัญชรหัตถกิจ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญด้าน school health ทดลองนำ “นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขนิสัยและพฤติกรรมสุขภาพ” มาใช้กับการเรียนการสอนในโรงเรียนเขตจังหวัดขอนแก่น ภายใต้การวิจัยเรื่อง การประยุกต์ใช้นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขนิสัยและพฤติกรรมสุขภาพสำหรับวัยเรียน จังหวัดขอนแก่น โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นวัตกรรมที่อาจารย์พรรณีกล่าวถึงคือสื่อการ์ตูนในรูปแบบวีซีดีเรื่องสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ โดยเป็นวีซีดีแอนนิเมชันอย่างง่ายที่เล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูนสีสันสดใส เข้าใจง่าย ใช้ภาษากลางและภาษาไทยอีสาน ที่สอดแทรกมุกตลก
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น อาจารย์พรรณี ได้นำ bbl (การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพสมอง-brain based learing หรือ bbl) มาบวกรวมกับสื่อการ์ตูนแอนิเมชัน เพื่อสร้างเสริมสุขนิสัย ผลจากการทดลองใช้ทั้งสองนวัตกรรมทั้งสองนี้ พบว่า การผสมผสานทั้งสองนวัตกรรมเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องสุขนิสัยมากขึ้น
“การใช้เพียง bbl อย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผลที่ดีพอ หรือการใช้สื่อการ์ตูนอย่างเดียวก็คงน้อยไปเพราะเด็กไม่ถูกกระตุ้นขึ้นมาเป็นการสร้างปัจจัยเอื้อให้กับเด็ก ส่วน bbl ก็กิจกรรมหนึ่งที่เขาต้องไปจัดทำเพื่อฝึกการเรียนรู้ ถ้ามีแต่ bbl จะไม่เกิดการกระตุ้น เพราะบางทีเด็กอาจจะไม่ได้สนใจ bbl หรือถ้าสื่ออย่างเดียวอาจจะไม่สนใจเพราะบางทีที่ทำแค่โปสเตอร์ เราก็ทำวีซีดีตามสุขบัญญัติ 10 ประการ”
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายต่อว่า การออกแบบสื่อการ์ตูนแอนิเมชันมาจากความคิดพื้นฐานที่ว่าเด็กชอบการเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง และมีสีสัน ดังนั้นการ์ตูนแอนิเมชัน จึงเป็นคำตอบของนวัตกรรมที่ถูกเลือกมาเป็นสื่อ
แนวคิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขนิสัยฯ นี้ถูกนำไปปฏิบัติจริงแล้วในหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนบ้านแดงใหญ่ (ราษฎร์คุรุวิทยาคาร) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปริยาภรณ์ บัวขาว อาจารย์จากโรงเรียนบ้านแดงใหญ่ นำหลักการ bbl และสื่อการ์ตูนแอนิเมชันไปใช้กับการเรียนวิชาภาษาไทย เพื่อบริหารประสาท เช่น เพลงเงาะ ใช้ท่าบริหารกำและแบมือ เป็นการบริหารสมอง ทำสลับกันไปมาระหว่างกำกับแบมือ
“ได้ผลคือ เด็กชอบมากร้องไห้เอาอีก อีกอย่างหนึ่งคือ เด็กได้ผลงาน เช่น สอนเรื่องอาหารหลัก 5 หมู่ โดยให้เด็กไปวาดภาพประกอบตั้งแต่หมู่ที่ 1-5 เป็นการฝึกระบบประสาทโดยไม่ต้องเขียน เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ทันที เด็กหลายคนมาบอกว่า ได้แปรงฟันแล้วนะ เอาเล็บมือมาให้ดู”
เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่นำไปแนวคิดนี้ไปใช้แล้วได้ผลน่าพอใจ มุลศรี แก้วมาตย์ คุณครู โรงเรียนบ้านหนองหิน เล่าว่า ได้นำทั้งแนวคิดเรื่อง bbl ไปใช้ในการสอน โดยใช้ในการเตรียมความพร้อมก่อนเรียน มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ การทำสมาธิ ต่อด้วยการร้องเพลง ต่อด้วยการแสดงท่าประกอบเพลง ดอกไม้บาน ต่อด้วยทำตามคำสั่ง เช่น สองตาดูสองหูฟัง สมองคิด มีสติ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 3 นาที
“ทำมาประมาณ 1 ปีแล้ว เด็กมีสมาธิในการเรียนดี สนใจเรียนมีชิ้นงาน ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้ดี กล้าแสดงออก กล้านำเสนอผลงาน มีการพัฒนามากขึ้น เช่น รู้จักแปรงฟันก่อนกินอาหารล้างมือ ก่อนเข้าห้องเรียนล้างมือ ผมสั้น เล็บมือสะอาด จากเมื่อก่อนค่อนข้างสกปรก ไม่ค่อยอาบน้ำ”
ในมุมมองของเด็กที่ผ่านการใช้นวัตกรรมเสริมสร้างสุขนิสัยอย่าง ปิยะธิดา นันท์ดี อายุ 10 ปี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านแดงใหญ่บอกว่า ได้กายบริหารตอนเข้าแถวหน้าเสาธงทุกวัน ประมาณ 10-20 นาที
“ชอบท่ายกแขนแยกออกจากตัว ไม่เหนื่อย สนุกดี ในชั้นเรียนก็เคยทำวิชาคณิตศาสตร์ ครูพาทำ ทำให้เรียนรู้เรื่องมากขึ้น แล้วเมื่อมาได้ดูการ์ตูนเรื่องสุขบัญญัติ 10 ประการ ทำให้เข้าใจการดูแลตัวเองมากขึ้นค่ะ”
ส่วนรุ่นพี่อย่าง ชลิตา ศรีกลชาญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเดียวกัน รู้สึกว่าการ์ตูนแอนิเมชันทำให้เข้าใจการสร้างสุขนิสัยแบบง่ายๆ ได้ เช่น การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร จากที่ไม่เคยใส่ใจ หรือการดูแลร่างกายให้สะอาด จะป้องกันโรคระบาดได้
อีกไม่นาน แนวคิดเรื่องการใช้นวัตกรรมสร้างเสริมสุขนิสัย ด้วย bbl และการ์ตูนแอนิเมชัน อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยย่นระยะเวลาในการเรียนการสอน หรือการปลูกฝังให้เด็กนักเรียนได้ตระหนักในการดูแลสุขนิสัยของตนเอง ดังที่หลายๆ โรงเรียนได้เริ่มนำแนวคิดนี้ไปใช้ และเห็นผลว่าสุขนิสัยไม่ใช่เรื่องไกลอย่างที่คิดไว้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update: 08-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร