ไข้หวัดใหญ่ช่วงหน้าฝน น่ากลัวกว่าไข้หวัดนก
การระบาดของโรคไข้หวัดนก h7n9 ใน 11 พื้นที่ ของประเทศจีน ทั้งใน ฝูเจี้ยน เจียงซี หูหนาน เซี่ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียง อันฮุย เหอหนาน ปักกิ่ง ซานตงและไต้หวัน ในขณะนี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 126 รายและเสียชีวิตแล้ว 24 ราย
แต่หากดูจากระยะเวลาหลังจากการพบผู้ป่วยคนแรกเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เทียบกับจำนวนประชากรที่หนาแน่นในจีน (ประเทศจีนทั้งประเทศมีประชากร 1,300 ล้านคน มากกว่า 400 ล้านคนอยู่ในบริเวณที่มีการระบาด) แสดงให้เห็นว่าทางการจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างดีเยี่ยม
พญ.เลลานี ไพฑูรย์พงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ รพ.จุฬาลงกรณ์ และแพทย์จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ไข้หวัดนกเกิดจากการที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีกมานานแล้ว เกิดการถ่ายทอดเข้ามาสู่คน เช่น การแพร่ระบาดของ h5n1 ในบ้านเราเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และ h7n9 ที่เพิ่งมีการค้นพบ ตัวเชื้อไข้มีการวิวัฒนาการของมันเรื่อย ๆ ไข้หวัดใหญ่จึงเป็นโรคที่ไม่เคยหายไป แม้ว่าข่าวคราวจะเงียบหายไปพักใหญ่ก็ตาม”
ความน่ากลัวของ h7n9 อยู่ที่สัตว์ปีกที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการรุนแรง ผิดกับคราว h5n1 ที่เราสามารถประกาศเตือนได้ว่า ห้ามอยู่ใกล้สัตว์ปีกที่ตายแล้ว แต่เชื้อตัวใหม่นี้ ไม่พบว่ามีการเสียชีวิตในสัตว์ปีกนำมาก่อน
นอกจากนี้จากการศึกษาทางพันธุกรรมยังพบว่า สายพันธุ์ h7n9 น่าจะเข้าสู่เซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ง่ายกว่า h5n1 ผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัส h7n9 ส่วนใหญ่เป็นคนที่คลุกคลีหรือสัมผัสกับสัตว์ปีกโดยตรง แม้จะมีบางรายที่ไม่ทราบประวัติการสัมผัสชัดเจนและมีผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจจะติดจากคนในครอบครัวก็ตาม ไข้หวัดนก h7n9 ก็ยังเป็นไข้หวัดนกที่สามารถแพร่มาสู่คนเป็นบางครั้ง เช่นเดียวกับ ไข้หวัดนก h5n1 ยังไม่ได้กลายเป็นไข้หวัดคนเต็มขั้นแบบ ไข้หวัดใหญ่ 2009 และยังไม่พบการติดต่อจากคนสู่คนในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม h7n9 อยู่ในตระกูลเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ a ดังนั้น อาการเบื้องต้นของผู้ติดเชื้อก็จะเหมือนกับอาการของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้ามาประมาณ 3-8 วัน ก็จะเริ่มมีไข้ อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศา ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก ไอ ถ้าอาการรุนแรงก็จะเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ปอดอักเสบ และอาจเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้
ดังนั้น หากเพิ่งสัมผัสกับสัตว์ปีกมาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์แล้วเกิดเจ็บป่วย มีอาการคล้ายไข้หวัด ควรรีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติว่ามีการคลุกคลีใกล้ชิดกับสัตว์ปีก รวมทั้งประวัติการเดินทางไปบริเวณที่มีการระบาด
ปัจจุบันยังไม่มีการห้ามเข้าไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด ดังนั้น หากจะเดินทางไปเที่ยวหรือทำธุรกิจก็ยังทำได้ เพียงแต่ต้องหลีกเลี่ยงบางพื้นที่ เช่น ตลาดค้าสัตว์ปีกเป็น ๆ แม้ขณะนี้ตลาดนี้จะถูกปิดไปแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าใกล้รวมถึงงดเดินทางไปในบริเวณที่มีสัตว์ปีกด้วย
ที่สำคัญ ควรระวังในเรื่องอาหารที่ทำจากสัตว์ปีกทุกชนิดว่าจะต้องผ่านการทำให้สุกด้วยความร้อนเสียก่อน รักษาสุขอนามัย โดยล้างมือบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังทานอาหาร โดยเฉพาะหลังจากเพิ่งสัมผัสกับสัตว์ปีกมา
เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีการระบาดเข้ามาในประเทศไทย โรคที่ควรระวังมากกว่าก็คือ โรคไข้หวัดใหญ่คนซึ่งพบเป็นประจำ ในประเทศไทยมีอัตราการพบผู้ป่วยและผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่มากกว่าไข้หวัดนก
ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามไข้หวัด ทั้งที่จริงๆ แล้วแม้โรคนี้ติดต่อได้ง่ายแค่ไอหรือจามรดกัน สัมผัสเสมหะผู้ป่วย หรือสัมผัสทางมือที่ปนเปื้อนเชื้อโรค แต่โรคไข้หวัดใหญ่ในคนก็ป้องกันได้ไม่ยาก รักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ล้างมือบ่อย ๆ
และควรฉีดวัคซีนป้องกันกระตุ้นร่างกายให้มีการสร้างภูมิต้านทานเชื้อไวรัสทุกปี เพราะสายพันธุ์ของไวรัสมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต และหญิงกำลังตั้งครรภ์หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้วอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์