ไขกระดูกบกพร่อง รักษายาก แต่รักษาได้
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ไขกระดูกบกพร่องพบมากขึ้นรักษายาก แต่รักษาได้ ขอให้ประชาชนไปตรวจร่างกาย หากพบว่ามีปัญหาเกร็ดเลือด เม็ดขาว หรือแดง ต่ำเป็นระยะเวลานานเป็นเดือน ให้มาพบแพทย์ด้านโลหิตวิทยา
นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย อดีตนายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีโรคไขกระดูกบกพร่อง ว่ามีอยู่ 2 โรค คือ 1.ไขกระดูกฝ่อ เกิดจากสเต็มเซลล์ไม่สร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ต่ำหมด 2.สเต็มเซลล์ยังไม่ฝ่อ แต่ว่าทำงานผิดปกติ สร้างเม็ดเลือดผิดปกติ และต่ำ มีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน หรือลูคีเมียได้ ทั้งนี้ทั้ง 2 โรครักษายาก แต่ก็รักษาได้ขึ้นอยู่กับอายุคนไข้ หากอายุยังไม่มาก สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก จากพี่น้องท้องเดียวกัน หรือบุคคลอื่นที่เข้ากันได้ หากอายุมากก็ให้รับยาแอนติ บอดี้ ซึ่งได้ผลดีพอสมควร หรือคล้ายเคมีบำบัดที่ต้องให้เป็นรอบ ๆ ไป
นพ.ธานินทร์ กล่าวต่อว่า โรคนี้เราไม่รู้สาเหตุ ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ใช่โรคกรรมพันธุ์ โดยชนิดแรกพบในคนที่ยังอายุไม่มาก ส่วนชนิดที่ 2 พบในคนสูงอายุ ส่วนสถานการณ์นั้น ในช่วงหลัง ๆ พบโรคเหล่านี้ได้เยอะขึ้น โดยเฉพาะชนิดที่ 2 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ แต่คำแนะนำคือ ขอให้ประชาชนไปตรวจร่างกาย ซึ่งในการตรวจร่างกายจะมีตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดอยู่ หากพบว่ามีปัญหาเกร็ดเลือด เม็ดขาว หรือแดง ต่ำเป็นระยะเวลานานเป็นเดือน ให้มาพบแพทย์ด้านโลหิตวิทยา หรือในกรณีที่มีอาการแล้ว จะพบว่ามีปัญหาเลือดออกง่าย เกิดจ้ำเลือด หรือมีปัญหาติดเชื้อง่ายกว่าคนอื่น ให้รีบมาพบแพทย์ด้านโลหิต ซึ่งการตรวจวินิจฉัยยืนยันทำได้โดยการตรวจไขสันหลัง