ให้ละครเป็นยาวิเศษ!
สร้างต้นทุนทางปัญญาให้เยาวชน
‘ฮัลโหล นี้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ หน้าจอทัชสกรีน ราคาแค่หมื่นกว่าบาท แม่เพิ่งซื้อให้ นี่ถ้าเพื่อนๆ เห็น ต้องยอมรับในตัวเราแน่ๆ เลย’ บทสนทนาของนักศึกษาสาว ท่าทางกระหยิ่มยิ้มย่องราวกับวัตถุที่ถืออยู่ในมือจะทำให้ทุกคนต่างยอมรับในตัวเธอ… นี้เป็นเพียงบางส่วนของบทละครเวทีเรื่อง ‘ดากานดาผู้ไม่เคยพอ’ จากกลุ่มละครมดตะนอย จ.เชียงราย ที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากผู้ชมที่เข้าร่วมงานแถลงข่าวโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 16 กุมพาพันธ์ ที่อุทยานเรียนรู้ tk park ได้เป็นอย่างดี ซึ่งฉากต่างๆ ในละครเวทีเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของวัยรุ่นยุคปัจจุบันที่ซึมซับความเชื่อจากละครและสื่อแขนงต่างๆ จนเกิดความคิดว่าสิ่งของภายนอกนั้นสำคัญกว่าการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
เพราะละครคือสื่อที่สามารถเข้าถึงทันศคติและความเชื่อของผู้คนในสังคมได้อย่างทั่วถึง ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงร่วมกับ กลุ่มละครมะขามป้อม จัดโครงการละครเพื่อความเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งหวังใช้ละครเป็นเครื่องมือเสริมสร้างปัญญให้กับสังคม ผ่านพลังการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น
ซึ่งนพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงาน สำนักเปิดรับทั่วไป กล่าวว่า ถือเป็นหน้าที่ของสสส. ที่จะต้องคอยสร้างความสุขให้แก่สังคม ฉะนั้นจึงถือว่าละครเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่วัยรุ่น เพราะมีกิจกรรมไม่กี่อย่างที่ให้ความรู้และความสนุกสนานพร้อมๆ กัน โครงการนี้จึงเปรียบเสมือนเปิดพื้นที่ให้ทั้งทักษะการจัดการ ความรู้และเสริมทางทัศนคติที่ถูกต้อง พร้อมทั้งช่วยให้เยาวชนได้ค้นพบตัวเองและเกิดความสุขกาย ใจ สุขสังคม สุขปัญญา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและเป็นปัญญาที่ไม่เบียดเบียนใคร
“อยากให้ละครที่เยาวชนสื่อออกไปหรือเนื้อหาบางช่วงบางตอนในโครงการนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจกับสื่อแขนงต่างๆ จนนำไปแตกยอดและขยายผลการดำเนินงานต่อ แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าคนรุ่นใหม่มีความสุขและทัศนคติที่ดี เราทุกคนก็สามารถมั่นใจได้ว่าในอนาคตประเทศไทยจะเดินไปทางที่ถูกต้อง” นพ.บัญชากล่าว
ด้านนายพฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า โครงการนี้เป็นกิจกรรมต่อยอดจากโครงการละครสะท้อนปัญญาซึ่งจัดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ทางปัญญาและสร้างเสริมประสบการณ์ด้านละครเพื่อสื่อสารไปยังเยาวชนทั่วประเทศ ให้เกิดการรับรู้ เข้าใจถึงแก่นและวิถีการแสดงอย่างถูกต้อง ในปีนี้จะเปิดรับนักการละครหน้าใหม่จากทั่วประเทศ 40 กลุ่ม พร้อมใช้ระยะเวลาจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องประมาณ 1 ปี โดยเยาวชนทุกคนสามารถเข้าร่วมในโครงการนี้ได้ เพียงมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงและสามารถทำกิจกรรมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาว์นโหลดใบสมัครได้ที่ www.transformtheatre.net โดยสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 5 มีนาคม
“วัยรุ่นถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม ดังนั้นหากเยาวชนได้รับทัศนคติที่ถูกต้องและดีงามจากละคร นั่นย่อมเท่ากับว่าเยาวชนมีต้นทุนทางปัญญาที่จะเป็นเหมือนวัคซีนให้พวกเขาออกไปเผชิญโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างเข้มแข็ง” นายพฤหัสกล่าว
สำหรับเยาวชนได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ จากการอบรมโครงการละครสะท้อนปัญญาเมื่อปีที่ผ่านมาอย่าง นายวัธรวรงค์ รักชาติ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า นอกจากนำแง่คิดและมุมมองที่ได้หลังเข้าร่วมฝึกอบรม มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันแล้ว ยังเข้าใจถึงแก่นแท้ของละครด้วยว่าว่าผู้สร้างสามารถส่งสารอื่นๆที่แฝงไปด้วยแง่คิดและแรงบันดาลใจดีๆ ไปยังคนดูได้ มากไปกว่านั้นโครงการนี้ยังถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ค้นหาตัวเองและรู้จักดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตนเองออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 05-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด