ใช้ ‘สะแกโพรง’ โมเดลโจ๋เมาขับปรับเงินยึดรถ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
บุรีรัมย์ใช้ 'สะแกโพรง' โมเดลโจ๋ เมาขับปรับเงินยึดรถ ลดอัตราเกิดอุบัติเหตุ พิการและเสียชีวิตทางถนน
นายอนุสรณ์ แก้วกังวาน ผวจ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ได้ประสานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เขต 9 เขต 10 โดยถอดบทเรียนการดำเนินงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ โดยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยึดการทำงานตามมาตรการ 5 เสาหลัก คือ 1.การจัดการความปลอดภัยทางถนน 2.ถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย 3.ยานพาหนะปลอดภัย 4.ผู้ใช้รถใช้ถนน อย่างปลอดภัยและ 5.การตอบสนองหลังการเกิดอุบัติเหตุ โดยจังหวัดบุรีรัมย์ได้เฝ้าระวังจุดเสี่ยงและแก้ไขไม่ให้เกิดซ้ำ
น.ส.ปนัดดา วณิชชาพัชร ผอ.รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบุลาว ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า สาเหตุอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ส่วนใหญ่เกิดจากดื่มแล้วขับและถนนไม่ปลอดภัยกลุ่มเสี่ยงสุด คือวัยรุ่นในหมู่บ้าน ได้นำรูปแบบของกระบวนการทำงานที่เรียกว่าการเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางถนนจากกรณีศึกษา (Road Traffic Injuries หรือ RTI) ของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนทำงาน ภายใต้ชื่อ "ด่านครอบครัวรั้วแห่งความปลอดภัย 3ป. สะแกโพรงโมเดล" เพื่อให้คนในตำบลได้มีความรู้ด้านอุบัติเหตุและจราจรทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ พิการและเสียชีวิตทางถนน
สำหรับมาตรการที่ใช้คือ ระดับตำบล 1.บุคคลในครอบครัวแสดงความห่วงใยคนในครอบครัว ว่ากล่าวตักเตือน โน้มน้าว 2.กรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่สอดส่อง ดูแลช่วยเหลือครอบครัวที่มีประสบปัญหาคนในครอบครัวมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้รถใช้ถนน 3.หมู่บ้านมีธรรมนูญหมู่บ้านในการบริหารจัดการบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ด่านชุมชน สกัดคนเมา จะตักเตือนคนเมาที่ใช้รถใช้ถนน 2 ครั้งและครั้งที่ 3 โดยด่านชุมชนจะยึดพาหนะ พร้อมปรับเงิน 200 บาท และจะคืนพาหนะให้โดยมีผู้ปกครองมาลงชื่อรับพาหนะหลัง 7 วันอันตราย 2. ร้านค้าห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาและขายแอลกอฮอล์ตามเวลาที่กฎหมายกำหนดมาตรการระดับครอบครัว เช่น ยึดกุญแจรถคนในครอบครัว ไม่ให้ออกไปนอกบ้านหากไม่พร้อมเป็นต้น
น.ส.ปนัดดา กล่าวว่า ผลสำรวจความพึงพอใจด้านครอบครัวพบว่า ความเชื่อฟังคำกล่าวตักเตือน ร้อยละ 80.15 เกิดความร่วมมือของครอบครัว ร้อยละ 86.71 และต้องการให้ต่อเนื่องสูงถึงร้อยละ 95.12 ทำให้จำนวนอุบัติเหตุลดลง
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ได้นำต้นแบบการเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางถนนจากกรณีศึกษาของกรมควบคุมโรคที่ได้ส่งผ่านไปยังหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศมาเป็นกลไกขับเคลื่อนทำงาน โดยมีกรอบการทำงานที่มีระบบจัดการข้อมูล ความรู้การนำข้อมูลมาวิเคราะห์เฝ้าระวัง ชี้เป้าและจัดการจุดเสี่ยงการสอบสวนสาเหตุบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวมทั้งขับเคลื่อนงานแบบทีมสหสาขา