ใช้ ‘สมาร์ทโฟน’ ที่มืดเสี่ยงตาบอด
การใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเครียดและอ่อนล้าของสายตา หรือที่เรียกว่า "โรคเทคโนโลยีซินโดรม" เมื่อนานไปอาจลุกลามทำให้กลายเป็นต้อหิน และตาบอดในที่สุด
การใช้สมาร์ทโฟนในที่มืดแล้วมีอาการแสบระคายเคืองตา หรือมีอาการดวงตาพร่ามัวเป็นประจำ ชวนสงสัยว่าอาการเช่นนี้เกิดจากอะไร มีสาเหตุมาจากการใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ หรือไม่ หลังจากใช้สมาร์ทโฟนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เพื่อใช้ติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อออนไลน์อย่างโปรแกรมสนทนา โดยเฉพาะไลน์ ถูกใช้งานกันจนหลายคนมีพฤติกรรมเสพติด หลายรายมักนิยมใช้สมาร์ทโฟนก่อนนอน และมักปิดไฟระหว่างการใช้งาน โดยจะอาศัยเฉพาะแสงไฟจากหน้าจอของสมาร์ทโฟนเท่านั้น
น.พ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาดวงตา ยืนยันว่า การใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเครียดและอ่อนล้าของสายตา หรือที่เรียกว่า "โรคเทคโนโลยีซินโดรม" จะมีสัญญาณเตือนของโรคคือ แสบตา ตาแห้ง น้ำตาไหล ปวดที่กระบอกตา สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด เพราะต้องเพ่งสายตาไปที่หน้าจอซึ่งมีขนาดเล็ก ทำให้ม่านตาขยายใหญ่ขึ้นมากกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ที่นิยมปิดไฟเล่น
"ระยะนี้พบว่ามีผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องสายตาเข้ามาพูดคุยด้วยค่อนข้างบ่อย โดยส่วนใหญ่บอกตรงกันว่ามีการใช้สมาร์ทโฟนในการแชตสนทนาเป็นหลัก เมื่อก่อนปัญหาไม่เยอะเท่านี้ ซึ่งยอมรับว่ามีความกังวล เพราะตอนนี้มีคนไข้มาหาอยู่เรื่อยๆ และเกือบทุกวัยด้วย"
แนะนำว่า หากดวงตาประสบภาวะเทคโนโลยีซินโดรมเป็นเวลานาน อาจลุกลามทำให้กลายเป็นต้อหิน นำไปสู่การทำลายเส้นประสาทตาจนดวงตาพร่ามัว หากอาการหนักดวงตาจะบอดในที่สุด
วิธีการดูแลตัวเองให้รอดพ้นจากอาการนี้คือ นอนหลับอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในตา ควรเปิดไฟให้มีแสงสว่างเพียงพอ และใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น โดยใช้ประมาณ 25 นาที พัก 5 นาที หรือใช้ 30 นาที พัก 10 นาที พร้อมทั้งเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต