ใช้ "ยาลดน้ำหนัก" เสี่ยงเจอยาอันตรายใด

ที่มา : MGR Online


ใช้


แฟ้มภาพ                


เป็นข่าวคราวอยู่เนืองๆ กับอันตรายและผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดความอ้วน หรือยาลดน้ำหนัก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และบรรดาหมอๆ ต่างออกมาเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาเหล่านี้ แต่ดูเหมือนว่าคนจะอยากผอมสวยมากกว่ากลัวอันตราย ซึ่งสุดท้ายหากไม่เห็นโลงศพคงไม่หลั่งน้ำตา


นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกมาเปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์ "ยาลดน้ำหนัก" ว่า มีส่วนผสมที่เป็นยาอันตรายอะไรบ้าง


"สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจวิเคราะห์ของกลางยาลดน้ำหนักจำนวน 70 ตัวอย่าง ในช่วง ต.ค. 2558 – ม.ค. 2559 พบตัวอย่างที่มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน เป็นยาอันตราย 43 ตัวอย่าง และยาควบคุมพิเศษ 8 ตัวอย่าง" อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว


ทั้งนี้ ยาอันตรายที่พบมากเป็นอันดับ 1 คือ "ยาไซบูทรามีน" จัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น มีฤทธิ์ลดความอยากอาหาร


2. ยาในกลุ่มแอมเฟตามีน เช่น เฟนเทอร์มีน ซึ่งจะออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่ม ทำให้เกิดการเบื่ออาหาร แต่ยานี้ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคไทรอยด์เป็นพิษ เพราะอาจจะส่งผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเป็นอันตรายกับผู้ป่วยได้


3. ยาระบาย บิสซาโคดิล และยาขับปัสสาวะ ฟูโรซีไมด์ ผู้ใช้ยาดังกล่าวจะรู้สึกผอมลงเร็ว เนื่องจากน้ำหนักลดหลังจากใช้ยา แต่ผลข้างเคียงคือร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ยารักษาโรคซึมเศร้าและอาการในกลุ่มโรควิตกกังวล ฟลูโอซีทีน ซึ่งมีผลข้างเคียงในการช่วยทำให้ไม่อยากอาหาร


"ตัวอย่างที่ตรวจพบ บางครั้งอยู่ในรูปแบบของยาที่จัดเป็นชุด ซึ่งประกอบด้วยไซบูทรามีน เฟนเทอร์มีน และบิสซาโคดิล บางตัวอย่างจัดเป็นชุดร่วมกับวิตามินเพื่อลดผลข้างเคียงจากการรับประทานอาหารน้อยลงและการใช้ยาระบาย นอกจากนี้ ในยาชุดบางตัวอย่างมียานอนหลับรวมอยู่ด้วย เช่น ไดอาซีแปม เนื่องจากผลข้างเคียงของยากลุ่มแอมเฟตามีน จะกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้นอนไม่หลับ จึงมีการจ่ายยานี้ร่วมด้วย ซึ่งยาที่ได้กล่าวมาทุกชนิดจะมีอาการข้างเคียง และอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องได้" อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว


นอกจากนี้ ยังพบการนำไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ มาใช้ลดน้ำหนัก ซึ่งยานี้มีผลเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลงเร็ว แต่มีผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะไทรอยด์ฮอร์โมนจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นมากกว่าเดิม และไม่เต็มจังหวะ ทำให้แต่ละครั้งของการเต้นสูบฉีดเลือดได้น้อยลง จึงมีความเสี่ยงสูงกับคนที่มีปัญหาภาวะหัวใจ


“ยาที่กล่าวมาข้างต้นหากใช้โดยแพทย์ในขนาดที่ถูกต้องก็ยังเป็นยาที่มีประโยชน์มากในทางการแพทย์ แต่ถ้ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยไม่เข้าใจถึงอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก็สามารถทำให้ผู้ใช้เกิดอันตรายได้” นพ.อภิชัย กล่าว     

Shares:
QR Code :
QR Code