ใช้รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ใช้รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย thaihealth


แฟ้มภาพ


แนะข้อควรปฏิบัติในการใช้รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย…ลดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน


คุณฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ซึ่งมีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ ทั้งการขี่รถเร็ว การขี่รถย้อนศร โดยเฉพาะการไม่สวมหมวกนิรภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้บาดเจ็บรุนแรงบริเวณศีรษะจนถึงขั้นเสียชีวิต เพื่อความปลอดภัยขอแนะข้อควรปฏิบัติในการใช้รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย ดังนี้


ตรวจสอบรถจักรยานยนต์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยยางรถยนต์ไม่บวมหรือปริแตก พร้อมเติมลมยางตามค่ามาตรฐาน รวมถึงระบบเบรกสามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย สัญญาณไฟส่องสว่างชัดเจน และปรับกระจกรถให้อยู่ในองศาที่มองเห็นด้านหลังได้ถนัด ตรวจสอบคันเร่งให้อยู่ในตำแหน่งปกติเมื่อผ่อนคันเร่ง เตรียมความพร้อมก่อนใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารควรแต่งกายให้รัดกุม เพื่อป้องกันเสื้อผ้าเกี่ยวเข้าไปในซี่ล้อรถ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้


หากขี่รถในช่วงกลางคืนให้สวมใส่เสื้อผ้าสีสดใสหรือสีสะท้อนแสง เพื่อให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางมองเห็นได้ชัดเจน สวมแว่นตากันลม เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและแมลงเข้าตา อีกทั้งสวมรองเท้าหุ้มส้นที่กระชับ จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงบริเวณเท้า


กรณีประสบอุบัติเหตุ เรียนรู้การขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะท่านั่งในการขับขี่ การทรงตัวและการควบคุมรถอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการขับขี่รถ และมีทัศนวิสัยในการมองเห็นที่ชัดเจน รวมถึงเทคนิคการใช้เบรกอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการขาดทักษะในการขับขี่


สวมหมวกนิรภัยอย่างถูกวิธี โดยคาดสายรัดคางและปรับความตึงให้กระชับใต้คาง ไม่บิดหรือหย่อน รวมถึงแน่นหนาเพียงพอที่หมวกจะไม่หลุดออกจากศีรษะ จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บกรณีประสบอุบัติเหตุ ไม่นำหมวกนิรภัยที่หมดอายุ หรือเคยประสบอุบัติเหตุมาใช้งาน เพราะไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้ ทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรงมากขึ้น ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยขี่รถในช่องทางเดินรถด้านซ้าย ไม่ล้ำกึ่งกลางของถนนหรือใช้ช่องทางที่กำหนดไว้สำหรับรถจักรยานยนต์ รวมถึงไม่ขี่รถบนทางเท้าหรือริมไหล่ทาง


ให้สัญญาณไฟและมองกระจกข้าง เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงค่อยเลี้ยวรถหรือเปลี่ยนช่องทาง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุเฉี่ยวชน อีกทั้งใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะเป็นระดับความเร็วที่ปลอดภัย และหมวกนิรภัยสามารถรองรับแรงกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงบริเวณศีรษะ เพิ่มความระมัดระวังในการขี่รถผ่านเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเส้นทางที่เปียกลื่น ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ เพื่อป้องกันรถเสียหลักล้ม.

Shares:
QR Code :
QR Code