ใช้ยาจุดกันยุงหน้าฝน วางที่อับเสี่ยงรับสารพิษ
เตือนหน้าฝนใช้ยาจุดกันยุงป้องกันไข้เลือดออก วางในที่อากาศถ่ายเท อย่าวางที่อับ เหตุสารไล่ยุงกลุ่มไพรีทรอยด์ แม้พิษต่ำ แต่รับปริมาณมากอาจ มึนงง ปวดหัว อาเจียนได้ หากแพ้ผิวหนังอักเสบ บวม แดง หายใจติดขัด
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวว่า โรคที่น่าห่วงช่วงฤดูฝนคือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ โดยหนึ่งในวิธีป้องกันคือ การใช้ยาจุดกันยุง ทั้งนี้ ยาจุดกันยุงส่วนใหญ่นิยมใช้สารไล่หรือป้องกันยุง กลุ่มไพรีทรอยด์ ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่เลียนแบบสารไพรีทรินส์ที่สกัดได้จากพืชตระกูลเบญจมาศ เช่น ดี-อัลเลทริน เอสไบโอทริน เมโทฟลูทริน เป็นต้น ซึ่งสารดังกล่าวจะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาท ทำให้ยุงเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว และตกลงมาหงายท้อง ดังนั้น ควันที่ปล่อยออกมาจากยาจุดกันยุงที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์ จึงช่วยลดอัตราการกัดของยุงและป้องกันการรบกวนจากยุงได้
ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยาจุดกันยุงมีการพยายามปรับแต่งกลิ่นให้หอมเลียนแบบธรรมชาติเพื่อกลบกลิ่นเผาไหม้และกลิ่นสารเคมี โดยทั่วไปสารไพรีทรอยด์มีความเป็นพิษต่ำกว่าสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มอื่น การใช้ยาจุดกันยุงในขนาดและวิธีการใช้ปกติมักไม่พบการเกิดพิษ
อย่างไรก็ตาม หากสูดดมควันที่ปล่อยออกมาจากยาจุดกันยุงในปริมาณมาก เช่น อยู่ในบริเวณที่คับแคบ ไม่มีอากาศถ่ายเทติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจเป็นอันตรายได้ โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณที่ได้รับ หากได้รับในปริมาณสูงจะมีอาการพิษเฉียบพลัน ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก หรือหมดสติ ส่วนอาการพิษอื่นๆ ได้แก่ อาการแพ้ทางผิวหนัง คัน มีผื่นแดง หากเข้าตาอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้
“ผู้บริโภคควรจุดยากันยุงในห้องที่มีอากาศถ่ายเทและเก็บให้มิดชิด ไม่ควรวางไว้ใกล้หรือรวมกับอาหารและวางให้พ้นมือเด็ก หลังจากสัมผัสยาจุดกันยุงทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด นอกจากนี้ เพื่อป้องกันอัคคีภัย ควรใช้ขาตั้งหรือถาดรองยาจุดกันยุงที่ทำด้วยโลหะหรือวัสดุที่ไม่ติดไฟ ขณะใช้ควรวางให้ห่างวัตถุไวไฟหรือของที่เป็นเชื้อไฟได้ ” รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต