ใช้ยางแท้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์
ที่มา : เดลินิวส์
การการยางแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับคณะแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และคณะแพทย ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิจัยนำน้ำยางพาราแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทยมาผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้ในทางการแพทย์
นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับคณะแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และคณะแพทย ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำงานวิจัย เพื่อนำน้ำยางพาราแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทยมาผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงสื่อการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาแพทย์ พยาบาล เช่น แบบจำลองหุ่นช่วยฝึกตัดชิ้นเนื้อ แผ่นฝึกเย็บแผล หุ่นจำลองก้นฉีดยา แขนจำลองสำหรับเจาะเลือดหรือให้น้ำเกลือ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับวิชาชีพทางการแพทย์
โดยเฉพาะแบบหุ่นจำลองช่วยฝึกตัดชิ้นเนื้อ ที่ได้ร่วมมือกับหน่วยออร์โธปิดิกส์เนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รพ.พระมงกุฎเกล้า ผลิตขึ้นมาเพื่อให้แพทย์ประจำบ้าน และ นัก ศึกษาแพทย์ใช้ฝึกทักษะหัตถการในการหาชิ้นเนื้อมะเร็ง-เนื้องอก เนื่องจากเมื่อแพทย์เรียนจบแล้วจะต้องทำการรักษาผู้ป่วยโดยใช้หัตถการที่เรียนมา โดยทำมาจากน้ำยางพารา 100 เปอร์เซ็นต์ มีการประดิษฐ์แบบหล่อเบ้าและเทยางที่ปรับสูตรผสมให้มีความแข็งและคุณสมบัติเหมือนเนื้อมนุษย์มากที่สุด ราคาเพียงแค่หลักหมื่นบาท
ส่วนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ทำวิจัยร่วมกันคือ แผ่นฝึกเย็บแผล เป็นผลงานวิจัยหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จ ช่วยให้บุคลากรในวงการแพทย์ได้ฝึกทักษะด้านหัตถการและผ่าตัดเสมือนจริง โดยแผ่นยางสำหรับฝึกนี้ผลิตจากน้ำยางพารา 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน โครงสร้างของยางธรรมชาติที่มีความยืดหยุ่นสูงภายใต้กระบวนการผลิตแบบเฉพาะ จึงทำให้ผิวมีคุณลักษณะความนุ่มใกล้เคียงกับผิวหนังของมนุษย์มากที่สุด ซึ่งเดิมทีอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวใช้ทำจากซิลิโคน ราคาแผ่นละ 700-800 บาท ในขณะที่ กยท.ได้ผลิตให้ในราคาแผ่นละ 200-300 บาท