ใครบ้างควรตรวจคัดกรอง “มะเร็งตับ”
หลังพบเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ
มะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ และเป็นสาเหตุของการสูญเสียชีวิตมากที่สุดของประชากรไทยในปัจจุบัน ก็คือ มะเร็งตับ ในเพศชายพบเป็นอันดับ 1 และเพศหญิงพบเป็นอันดับ 3 คาดว่าทั่วโลกจะมีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่มากถึง 500,000 รายต่อปี โดยกว่า 80% เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และภาวะตับแข็ง การรู้และเข้าใจปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะทำให้คุณหลีกเลี่ยงจากการเกิดมะเร็งตับได้ในอนาคต
นายแพทย์ธีรภัทร อึ้งตระกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งตับส่วนใหญ่เนื่องมาจาก การ ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง โดยเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสารพันธุกรรมของเซลล์ตับเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบีพบได้ถึง 8% ของประชากรไทยทั้งหมด อาจเกิดจากการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก บางครั้งอาจเป็นเฉียบพลัน คือเป็นแล้วหาย และบางครั้งก็จะเป็นพาหะอยู่กับตัวเราไปตลอด ปัจจุบันในประเทศ ไทยมีการฉีดวัคซีนป้อง กันไวรัสตับอักเสบบีในเด็กแรกเกิดทุกคนก็จะสามารถช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งตับจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีลงได้ แต่จะพบการเกิดมะเร็งตับที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจ เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเราเอง เนื่องจากไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
นอกจากนี้ การเกิดภาวะตับแข็ง จะเพิ่มความเสี่ยงของ มะเร็งตับได้มาก 3-20 เท่า โดยการดื่มเหล้าจะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดภาวะตับแข็งได้ ซึ่งหากคน ๆ นั้นเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีหรือซีอยู่แล้ว ประกอบกับการดื่มเหล้ามาก ๆ ติดต่อกันหลาย ๆ ปี ก็จะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็ง และก็จะพัฒนาเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด รวมถึง การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งตับที่สร้างจากเชื้อรา ซึ่งปนเปื้อนมากับผลิตผลทางการเกษตร เช่น ถั่ว ข้าวโพด ข้าว เป็นต้น โดยเชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในอากาศ อับชื้นเช่นในประเทศไทย การสัมผัสสารเหล่านี้เป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ นอกจากนี้จากการศึกษาใหม่ ๆ ยังพบว่า ภาวะอ้วนยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้หลายชนิด รวมถึงมะเร็งตับ
มะเร็งตับในระยะแรก ๆ มักจะไม่มีอาการแสดง จะมีอาการก็ต่อเมื่อเป็นมากแล้ว โดยผู้ป่วยในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเข้ารับการรักษาเมื่อโรคเป็นมากแล้ว หรือหน้าที่การทำงานของตับไม่ดีแล้ว ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร การตรวจ ร่างกายโดยวิธีปกติจะไม่สามารถตรวจพบมะเร็งตับในระยะแรกได้ เนื่องจากขนาดของก้อนมะเร็งตับมีขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการตรวจค้นหา โดยใช้การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ร่วมกับการเจาะเลือด ฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ได้แก่ พาหะไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ภาวะตับแข็ง และผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ผู้ที่มีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว ควรได้รับการตรวจคัดกรอง โดยการทำอัลตราซาวด์ ร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง ทุก ๆ 6 เดือน
ในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะพบมะเร็งตับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนไทยเอง ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและการตรวจคัดกรองมะเร็งตับโดยเฉพาะในประชากร กลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากตรวจเจอตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก็จะมีสิทธิรักษาให้หายขาดได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update:04-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่