‘โฮมเลส’ ไร้บ้าน-ไร้โอกาส ใช่ว่า ‘ไม่ทำกิน’
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"คนไร้บ้านคนอีกกลุ่มในสังคมไทยที่สามารถพบเห็น หรือ Homeless" ได้บ่อยมาก ตามท้องถนน สนามหลวง ป้ายรถเมล์ พื้นที่สาธารณะต่างๆ เนื่องด้วยสัดส่วนของผู้ที่ก้าวสู่วิถีคนไร้บ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้น คำถามคือ ทำไมเขาไม่มีบ้าน ไม่ทำงาน มาเดินขอเงิน เก็บของตามถังขยะ…??
จากการสำรวจคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร ตามที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าสถานการณ์ของคนไร้บ้าน หรือกลุ่มประชากรที่อยู่ในภาวะยากจน ไร้ที่พึ่ง และประสบกับความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิตและทรัพย์ทั่วประเทศ ตัวเลขคาดการณ์ประมาณ 2-3 หมื่นคน เป็นผู้ชาย 90% และผู้หญิง 10% โดยส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และอีกส่วนอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือสถานสงเคราะห์ของรัฐ ซึ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีคนไร้บ้านทั้งหมด ประมาณ 5,000 คน แบ่งเป็นอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ มี 1,307 คน และอยู่ในศูนย์พักพิงต่างๆ มีประมาณ 3,000 กว่าคน
ลุงสนั่น ปานเฟือง อายุ 60 ปี หนึ่งในคนไร้บ้าน พื้นเพเป็นคนกรุงเทพมหานคร เล่าเรื่องราวชีวิตด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า 10 กว่าปีแล้วที่ใช้ชีวิตตามวิถีของคนไร้บ้าน สาเหตุที่ต้องมาใช้ชีวิตแบบนี้ เพราะมีปัญหาหลายอย่าง และไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว ถึงแม้จะไม่มีบ้าน ต้องอาศัยนอนตามสถานที่ ต่างๆ สนามหลวงบ้าง บางซื่อบ้าง หาอะไรขายไปเรื่อยๆ เก็บของเก่าตามถังขยะ วันไหนไม่มีเงินสักบาทก็รอรับบริจาคอาหารตามที่ต่างๆ แต่ก็ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนหรือขโมยเงินของใคร
"ลุงจบชั้นป.4 มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน มีแม่คอยเลี้ยงดู ส่งเสียให้เรียนหนังสือ แต่ครอบครัวก็ไม่ได้มีฐานะมากมาย พอเข้าสู่วัยรุ่นเราเกเร ไม่เรียนหนังสือ ออกมาทำงาน เที่ยวเล่น เจอสังคมเจอเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือด้วยกันก็ชวนกันไปทำงานตามที่ต่างๆ ไปออกเรือหาปลา ใช้ชีวิตอย่างอิสระไม่มีใครมาบังคับ ทำงานเลี้ยงตัวเองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุ 20 กว่าๆ ก็มาเจอภรรยา อยู่กินสร้างครอบครัวกันที่ต่างจังหวัด จนมีลูก 2 คน แต่ด้วยความรักอิสระของเรา ก็ขอภรรยามาทำงานที่กรุงเทพฯ อาศัยอยู่กับแม่ และความที่กรุงเทพฯ เป็นเสมือนบ้านของเรา มีเพื่อน มีสังคม เราก็ไม่อยากกลับไปต่างจังหวัด ทำให้ต้องแยกทางกับภรรยาและลูก จนภรรยาไปแต่งงานใหม่และลูกอยู่กับครอบครัวใหม่ ลุงจึงไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับครอบครัวใหม่ของภรรยา ทำได้เพียงติดต่อกับลูกๆ ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเรายังมีบ้าน มีแม่ มีงานทำไปเรื่อยๆ พอมาวันที่แม่เสียชีวิต บ้านที่มีอยู่ต้องขายและแบ่งเงินกับพี่น้อง เราก็มาใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้าน ดึกไหน นอนนั่น"
ทั้งนี้ กลุ่มคนไร้บ้าน มากกว่าร้อยละ 70 ประกอบอาชีพที่มีความไม่แน่นอนทางรายได้ และหลักประกันในการใช้ชีวิต ประมาณร้อยละ 40 มีรายได้จากการทำงานรับจ้างทั่วไป รองลงมาร้อยละ 20 มีรายได้จากการหาของเก่า และร้อยละ 12 มีรายได้จากการค้าขาย ทั้งนี้ คนไร้บ้านเกินกว่าครึ่งเป็นประชากรที่มีต้นทุนด้านการประกอบอาชีพ แต่เงื่อนไขของการใช้ชีวิตของพวกเขาไม่เอื้ออำนวยให้แปรต้นทุนด้านอาชีพดังกล่าวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและมีความมั่นคงที่เพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุหลักๆ มาจากปัญหาความยากจน เศรษฐกิจ สภาวะการทำงานไม่มั่นคง สภาพร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน และปัญหาครอบครัว
ลุงสนั่น เล่าต่อไปว่า ก่อนที่จะมาอยู่กับทางเครือข่ายคนไร้บ้านบางกอกน้อย และเข้าร่วม หจก.คนไร้บ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินการให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง มีอาชีพ มีรายได้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นเมื่อเทียบกับชีวิตที่ผ่านมา อดีตมีกินบ้างไม่มีกินบ้าง บางวันก็มีของขายบางวันก็ไม่มี ชีวิตตอนนั้นลำบาก มีท้อบ้างแต่ไม่ถอย บอกตัวเองเสมอว่าเราต้องเข้มแข็ง อยู่ให้ได้อย่างมีความสุขในแต่ละวัน
ไม่มีใครอยากไร้คนข้างกาย ไม่ได้อยู่กับครอบครัว แต่เมื่อชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน "วิถีคนไร้บ้าน" ดูจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับลุงสนั่นซึ่งไม่เคยท้อ หรือโทษตัวเอง สังคม หรือใครก็ตามว่า ทำไมต้องมีชีวิตแบบนี้ ลุงสนั่นบอกว่า เมื่อชีวิตเลือกได้เท่าที่จะเป็นไป เราต้องยอมรับและใช้ชีวิตให้มีความสุขมากที่สุด
"ลุงมีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบในการใช้ชีวิต คำสอนแนวปฏิบัติของพระองค์ท่านสอนให้เรารู้ว่า เราควรใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ยอมรับในสิ่งที่เราเป็น และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร คนเราแม้จะเลือกเกิดไม่ได้แต่เราเลือกชีวิตของตัวเองได้ เมื่อโอกาสเข้ามาหาเรา หรือเราเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบนี้แล้ว ก็ต้องใช้ชีวิตดังกล่าวให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนไร้บ้านไม่ใช่คนไม่ดี คนไร้บ้านมีหลากหลาย แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่ามองว่า การที่คนหนึ่งคนนอนตามท้องถนน พื้นที่สาธารณะ แล้วค่าความเป็นคนของเขาจะน้อยกว่าเรา เขาก็ไม่ได้แตกต่างจากเรา เพียงแต่โอกาส เส้นทางเดินของชีวิตไม่เหมือนกัน ฝากคนในสังคม เปลี่ยนมุมมองต่อคนไร้บ้าน ให้มองด้วยความเข้าใจ ยอมรับ และคอยช่วยเหลือพวกเขา ขณะเดียวกัน คนไร้บ้านเองต้องประพฤติตัวให้ดีอย่าสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น หากไม่มีเงิน ไม่มีอาหาร ลองเข้าไปยังมูลนิธิ เครือข่าย หรือองค์กรต่างๆ ที่พร้อมช่วยเหลือ อย่าไปขโมย หรือเดินขอเงินสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้อื่น"
ปัจจุบัน "ลุงสนั่น" ยังมีการติดต่อกับลูกๆ และรู้ว่าลูกอยู่ที่ไหน แต่ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจและเหตุผลหลายๆ อย่าง ลุงไม่ขอกลับไปเป็นภาระของลูกๆ แต่จะใช้ "ชีวิตคนไร้บ้าน" ต่อไป
ลุงสนั่น กล่าวปิดท้ายว่า ทุกคนล้วนมีบทบาทหน้าที่ ใช้ชีวิตตามสิ่งที่เลือก ไม่มีใครถูกผิดหากการเลือกชีวิตนั้นไม่สร้างปัญหาให้ผู้อื่น หากใครที่กำลังท้อแท้ หรือเจอปัญหาชีวิต อยากให้ปรับทัศนคติ มุมมองของตนเอง วันนี้ถ้าท้อ อ่อนแอ ทุกข์ มันก็คือวันนี้ แล้วมันจะผ่านไป ชีวิตของคนเราไม่ได้มีเพียงความทุกข์ อย่างลุง เมื่อก่อนเร่ร่อน ค่ำไหนนอนนั่น ตอนนี้มีบ้าน มีความสุข มีเพื่อน สังคม ทุกคนควรให้กำลังใจตนเองและมองโลกในแง่ดีตามความเป็นจริง
"คนไร้บ้านไม่ใช่คนไม่ดี อย่ามองว่า การที่ คนหนึ่งคนนอนตาม ท้องถนน พื้นที่สาธารณะ แล้วค่าความเป็นคนของเขาจะน้อยกว่าเรา เขาก็ไม่ได้แตกต่างจากเรา เพียงแต่โอกาส เส้นทางเดินของชีวิตไม่เหมือนกัน"