โฮงเฮียนผู้สูงอายุพะเยาสู่ `เครื่องดนตรีตามรอยพ่อ`

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า


จากโฮงเฮียนผู้สูงอายุพะเยาสู่ 'เครื่องดนตรีตามรอยพ่อ' thaihealth


โดยธรรมชาติของผู้สูงอายุ ที่คนสูงวัยยากจะหลีกเลี่ยงได้คงหนี ไม่พ้นปัญหาในเรื่องของความจำ ที่แย่ลง ความเครียด เหงา เศร้า ซึม ซึ่ง มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุทั้งโลก ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยทั้งหลายจึงพยายามที่จะค้นหาหนทางในการบรรเทาปัญหาเหล่านี้


นายพัฒนา สุขเกษม หรือครูเอ็ด ครูสอนอังกะลุงในจังหวัดพะเยา เล่าให้ฟังว่า เคยได้ยินบรรดาแพทย์ชื่อดัง บอกว่า "ดนตรี" จะช่วยบรรเทาอาการของสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ ด้วยเหตุนี้เอง ตนจึงได้เปิดแนะนำการเล่นอังกะลุงให้กับผู้สูงอายุในจ.พะเยาขึ้น โดยทำมาแล้วกว่า 8 ปี เรียกว่า โฮงเฮียนผู้สูงอายุพะเยา ด้วยการเปิดสอน อังกะลุง ตามที่เคยเห็น สมเด็จพระเทพฯ มี พระนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งว่า "เครื่องดนตรีที่เหมาะในการพัฒนาสมองสำหรับเด็ก คือ อังกะลุง" ตนจึงเชื่อว่าน่าจะเกิดประโยชน์เช่นเดียวกับผู้สูงอายุเช่นกัน ซึ่งเปิดรับผู้สูงอายุมาเรียนอังกะลุง โดยเปิดรับปีละ 300 คน สอนห้องละ 40-50 คน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และปัจจุบัน มีการขยายไปสอนแนะนำในทุกอำเภอของ จ.พะเยา ด้วย ทั้งมีการสร้างวิทยากรและของบประมาณจากสำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดซื้อเครื่องดนตรีให้ทุกอำเภอ


ครูเอ็ด เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า เมื่อปี 2551 ตนจะเกษียณอายุราชการครู จึงมองหาแนวทางว่าหลังเกษียณจะสามารถทำประโยชน์ใดให้กับสังคมส่วนรวมได้บ้าง นั่งพิจารณาตนเองพบว่ามีความสามารถเรื่องศิลปะและดนตรี จากนั้นจึงค้นคว้าข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดกับคนสูงวัยและความต้องการ ซึ่งส่วนตัวสนใจอย่างมาเกี่ยวกับภาวะทางจิตใจ เพราะมีสถิติระบุว่า ผู้สูงอายุในภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศ บวกกับแพทย์บอกสมองเสื่อมเพิ่มอย่างรวดเร็วและดนตรีช่วยได้


สรุปได้ว่าการตอบโจทย์ที่จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวา ไม่เครียด เหงา เศร้าซึม และชะลอสมองเสื่อม "ดนตรี" จะช่วยได้ โดยการสอนอังกะลุงให้กับผู้สูงอายุนั้น ตนได้มีการพัฒนาทั้งในเรื่องของการออกแบบเครื่องดนตรีใหม่ ให้สามารถเล่นได้ง่ายๆ ใช้ตัวเลข 1-5 แทนโน้ตและชี้นิ้วให้เล่น ซึ่งผู้สูงอายุจะใช้ระบบจ้องว่าเมื่อไหร่ที่ตนจะต้องเล่น ทดลอง สอนใน 2 ศูนย์ผู้สูงอายุของจ.พะเยา แต่ตอบโจทย์เพียงเรื่องการไม่เครียด ไม่เหงา ไม่เศร้า ไม่ซึมเท่านั้น แต่ไม่ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาสมอง


มีการพัฒนาใหม่โดยใช้ "สัญลักษณ์มือ" ในการกำกับการเล่นและใช้ "สี" แปะติดที่เครื่องดนตรีแทนตัวโน้ต เพราะผู้สูงอายุมีความจำที่สั้นลงจะให้จำโน้ตทั้งหมดไม่ได้ โดยโน้ตมี 7 ตัว จึงใช้สีประจำ 7 วัน เช่น สีแดง สีเหลือง สีฟ้า สีชมพู เป็นต้น นำไป ทดลองใช้กับนักเรียนป.4 และมัธยมฯ ได้รับ คำตอบจากเด็กๆ ว่า วิธีนี้ดีกว่าแบบเดิม เพราะ ทำให้มีสมาธิ ลดการจ้องและสมองได้ทำงาน จากการจดจำสัญลักษณ์มือจากผู้ควบคุมวง มือแบบไหนผู้ที่ถือโน้ตตัวใดต้องเล่น


"เมื่อนำมาใช้กับผู้สูงอายุ ปรากฏว่า แต่ละท่านชอบมาก มีความสุข บางท่านถึงกับเข้ามากอดขอบคุณ ซึ่งการแนะนำให้ ผู้สูงอายุเล่นอังกะลุงเป็นด้วยวิธีนี้ นอกจากลดความเครียด เหงา เศร้า ซึมและพัฒนาสมองแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการทำหน้าที่ ในสังคมกลุ่มด้วย เพราะการเล่นอังกะลุงจะต้องเล่นเป็นวง" ครูเอ็ดกล่าวอย่าง ภาคภูมิ


จนถึงปี 2553  ครูเอ็ด จึงพัฒนาเครื่องดนตรี อีกชนิดคือ "ขลุ่ย" ที่มีขนาดเล็ก และมีการออกแบบให้ 1 เลา มีโน้ตตัวเดียว ใช้สีบอกตัวโน้ต และ สัญลักษณ์มือกำกับการเล่นเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดความสะดวกในการพกพามากขึ้น และเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มเติมในเรื่องการขยายปอด โดยเฉพาะ ผู้ที่มีปัญหาปอดอุดกั้นเรื้อรัง


และในปี 2555  ครูเอ็ด มีแรงบันดาลใจจากการที่ฝันถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านรับสั่งในฝันว่า ให้คิดใช้ขยะจากน้ำท่วมมาทำเป็นเครื่องดนตรี" ครูเอ็ดจึงเก็บเอาเรื่องในความฝันมาคิด จนวันหนึ่งขณะสระผมเห็นขวดน้ำยาสระผมหมดและบีบๆ แล้วขวดมันเด้งกลับ จึงนำขวดนี้มาต่อเข้าที่ปลายขลุ่ย เกิดเป็นเครื่องดนตรีจากขยะ ขณะที่ ผู้ที่ได้เล่นได้ประโยชน์เพิ่มเติมเพราะ ได้บริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กและนิ้วมือด้วย กลายเป็น "เครื่องดนตรีตามรอยพ่อ"


ปัจจุบันเครื่องดนตรีตามรอยพ่อ ของครูเอ็ด มีแล้ว 14 ชิ้น เช่น ซึง ซึ่งนำ กล่องขนมคุกกี้ที่มีลักษณะกลมมาใช้เป็นโอ่ง ออกแบบแล้วขอให้ช่างที่จ.เชียงใหม่ทำให้ ในราคาเพียง 300 บาท ซึ่งปกติทั่วไปขนาดเท่ากันนี้น่าจะราคา 1,400 บาท


อนาคต ครูเอ็ด ตั้งใจที่จะเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เครื่องดนตรีตามรอยพ่อ และการตั้งโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย หรือโรงเรียน สสส. เพื่อเน้นในการสร้างสุขภาวะให้กับ ผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เพื่อให้การเล่นดนตรี ของผู้สูงอายุ เกิดผลด้านสุขภาพอย่างมากทั้งกายและใจ สร้างความสุขทางกายใจและได้พัฒนาสมอง ฝึกสมาธิ ซึ่งปัจจุบัน ครูเอ็ดยืนยันว่า มีลูกหลานที่ปู่ย่าตายายมาเล่นดนตรีทำให้เกิดความจำดีขึ้น จากที่ลืมกินยาบ่อยๆ ก็ลืมน้อยลง และทั้งหมดนี้คือความ สำเร็จของครูเอ็ด "นายพัฒนา สุขเกษม" แห่งโรงเรียนผู้สูงอายุพะเยา

Shares:
QR Code :
QR Code