“โอลิมปิค”มากกว่าการแข่งขันกีฬา
กิจกรรมเพื่อการต่อสู้กันในทางสันติ
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทั้งสองยุคคือ โอลิมปิคยุคโบราณสมัยกรุงเอเธนแห่งกรีกโบราณ และโอลิมปิกสมัยใหม่ที่ บารอน ปิแอร์ เดร์ กูเบอร์แตง (Baron Pierre de Coubertin) ได้รื้อฟื้นจิตวิญญาณแห่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกขึ้นมาใหม่ และพัฒนามาเป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬาซึ่งเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษย์ชาติจนถึงปัจจุบัน จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาถึงนัยที่ฝังอยู่ในกระบวนการจัดการแข่งขันทั้งสองยุค ซึ่งมีประเด็นที่มีนัยสำคัญหลายประการที่ต้องการสื่อสารแก่สังคม กล่าวคือ เมื่อพิจารณาสาระที่ปรากฎอยู่ในกิจกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณซึ่งทำการแข่งขันกัน ณ พื้นที่เรียกว่า “ทุ่งราบโอลิมเปีย” พบว่าประเด็นสำคัญที่เป็นพื้นฐานอยู่เบื้องลึกเบื้องหลังของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในขณะนั้นคือต้องการใช้กิจกรรมการแข่งขันกีฬาเพื่อสื่อสารแก่มวลมนุษย์ชาติในยุคนั้นให้ยุติการสู้รบหรือทำสงครามเข่นฆ่ากันระหว่างชนชาติต่างๆ และให้หันมาใช้กิจกรรมกีฬาเป็นสนามการต่อสู้กันในทางสันติ โดยปรากฏเป็นวาทกรรมประจำการกีฬาโอลิมปิก ขณะนั้นว่า “Olympic Truce” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาแห่งการสงบศึกสงครามเพื่อทำ “กิจกรรมสันติภาพ” ด้วยการหันมาต่อสู้กันในสนามกีฬา โดยมี ความสมบูรณ์ทางร่างกาย ผสมกลมกลืนกับความเข้มแข็งทางจิตใจ (Physical well being and mental harmony) เป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้ชนะการแข่งขัน ซึ่งหมายความว่าผู้เข้าแข่งขันจะทำการต่อสู้ด้วยสภาวะทางกาย และทางจิตใครมีร่างกายแข็งแรงกว่า มีจิตใจอดทนกว่ายอมได้เปรียบในการแข่งขันครั้งนั้นและยังมีข้อกำหนดให้พื้นที่ที่ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬาในขณะนั้น เป็นบริเวณแห่งการบูชาพระเจ้าเซอุส ห้ามกองกำลังจากกองทัพใดๆ ผ่านบริเวณนั้นและยังห้ามการก่อเหตุต่อสู้ฆ่าฟันกันระหว่างที่มีเกมส์การแข่งขันอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองจึงปรากฏว่ามีผู้แทนจากชนชาติต่างๆ เข้ามารวมตัวกัน ณ บริเวณที่ถูกกำหนดให้เป็นสนามแข่งขันกีฬา ซึ่งต่างเป็นบุคคลสำคัญๆ ที่ได้รับการคัดสรรจากชนชาตินั้นๆ พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์บูชาพระเจ้าด้วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและใช้เวลาอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาแห่งสันติภาพ พร้อมๆ กับชมการแข่งขันกีฬาด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม โอลิมปิกยุคโบราณ แห่งทุ่งราบโอลิมเปียก็ต้องยุติลงด้วยภาวะสงครามระหว่างมนุษยชาติ ที่มุ่งหมายแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนกระทั่งใน ค.ศ.1889 หรือเมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้เองที่มีผู้เห็นในปรัชญาและพลังแห่งสันติภาพที่ฝังลึกอยู่กระบวนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโบราณ คือ บารอน ปิแอร์ เดร์ กูเบอร์แตง เขาจึงสถาปนากระบวนการโอลิมปิกขึ้นมาใหม่ ภายใต้ความเชื่อมั่นในหลักการแนวคิดที่ใฝ่หาสันติภาพของมวลมนุษยชาติจากทุ่ง “โอลิมเปีย” ในอดีตมาเป็นโอลิมปิคสมัยใหม่ (Modern Olympic) และสืบสานความเชื่อดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่แน่นอนว่าสาระสำคัญที่มหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่นี้ต้องการสื่อสารสู่สังคมโลก ย่อมไม่ใช่เพียงอยู่ที่ประเด็นที่ว่าประเทศใดจะเป็นเจ้าเหรียญทอง หรือมิใช่อยู่ที่นักกีฬาคนใดมีขีดความสามารถหรือมาตรฐานในการแข่งขันอยู่ในระดับใด ใครเก่งกว่าใคร เท่านั้น แต่ทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทุกครั้ง รวมถึงปักกิ่งเกมส์ 2008 นี้ ย่อมต้องการส่งสารออกไปถึงมวลหมู่มนุษย์ชาติให้รับรู้ถึงนัย หรือประเด็นที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค ความก้าวหน้าทางเทคโนโยลีและวิทยาการบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ผ่านเทคนิคกระบวนการ พิธีการ และกิจกรรมการแข่งขันกีฬา ตลอดจนต้องการใช้โอกาสของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนี้ให้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทางสังคมในมิติต่างๆ ระหว่างผู้แทนประเทศที่มุ่งหน้ามาเพื่อพบปะกัน ด้วยเหตุผลทางการเมือง ธุรกิจการลงทุน รวมถึงต้องการให้เป็นเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ พร้อมๆ ไปกับต้องการให้ประชาคมโลกได้รับรู้และซึมซับในจิตวิญญาณของโอลิมปิก (Olympic Spirit) ที่มีเจตนารมณ์และอุดมการณ์ที่มุ่งให้เป็นกิจกรรมสัญลักษณ์แห่งสันติภาพสำหรับมวลมนุษยชาติอีกด้วย
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิคมีความหมายมากกว่าการแข่งขันกีฬา ดังนั้นการชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งนี้จะมีคุณประโยชน์คุ้มค่าแก่การลงทุนทั้งของประเทศเจ้าภาพ และของผู้ชมเองที่ต้องจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งเพื่อชมการแข่งขันทางโทรทัศน์ ก็ต่อเมื่อท่านผู้ชมจะชมด้วยความเข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วกีฬาโอลิมปิกนั้นเป็น “กระบวนการสื่อสาร” ลักษณะหนึ่งที่ต้องการสื่อต่อประชาคมโลกให้รับรู้ในคุณค่าและอุดมการณ์อันสูงส่งของมหกรรมกีฬาอันเป็นศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณของความรักและความเชื่อในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกแห่งสันติภาพ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการมีสุขภาวะที่ดีของทุกคน และเพื่อให้เห็นประจักษ์ว่ากีฬาโอลิมปิกมีความหมายมากกว่าการแข่งขันกีฬานั้น ผู้เขียนจะได้นำเสนอประเด็นเหล่านี้เป็นระยะๆ ตลอดช่วงเวลาของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ณ กรุงปักกิ่ง ต่อไป
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 27-08-51